ปัจจุบัน การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น อยู่ภายใต้แนวคิดของการแข่งขันเสรีที่ไม่มีผู้ใดเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชนรายใดรายหนึ่ง โดยการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น มาจากกลไกราคาในตลาดน้ำมันที่ทำให้ราคเสนอซื้อ และเสนอขายน้ำมันสำเร็จรูป มีความสมดุลกันในแต่ละวัน
สำหรับตลาดน้ำมันสำเร็จรูปที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด คือตลาด SIMEX ของสิงคโปร์ โดยผู้เสนอขายน้ำมันสำเร็จรูป คือ โรงกลั่นในสิงคโปร์ ที่นำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป ผู้ซื้อน้ำมันคือผู้ใช้น้ำมันในประเทศสิงคโปร์ และประเทศที่อยู่ในภูมิภาคที่ใกล้กับสิงค์โปร์ รวมทั้งประเทศไทย ดังนั้น
รศ. ดร. วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล รวมทั้ง ศ. ดร. ธีระพงษ์ วิกิตเศรษฐ และ ศ. ดร. จิราวัลย์ จิตรถเวช อาจารย์เกษียณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ร่วมกันศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น ระบุว่า เมื่อมีโรงกลั่นเกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะแรก กำลังการกลั่นน้ำมันในประเทศ ยังไม่พอต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ จึงต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงค์โปร์
โดยน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นจากโรงกลั่นในประเทศไทยต้องแข่งขันกับน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งนำไปสู่การอ้างอิงราคา ณ โรงกลั่นในประเทศไทยกับราคานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป CIF ในตลาดสิงคโปร์ที่ได้รวมค่าขนส่งและค่าประกันน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาที่ศรีราชา
ค่าสูญเสีย ค่าปรับคุณภาพน้ำมันและค่าสำรองน้ำมันตามที่รัฐกำหนด ภายใต้แนวคิดการแข่งขันดังกล่าว ถ้าโรงกลั่นในประเทศขายน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นสูงกว่าราคาอ้างอิง ก็จะไม่สามารถแข่งขันได้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าโรงกลั่นในประเทศมีต้นทุนการกลั่นที่ต่ำกว่าต้นทุนของโรงกลั่นในสิงคโปร์ ก็จะสามารถขายน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นได้ในราคาอ้างอิง CIF ในตลาด SIMEX ซึ่งจะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ การอิงราคา ณ โรงกลั่นกับราคา CIF ที่ตลาดสิงคโปร์ (import parity price) จึงเป็นกลไกสำคัญที่เอื้ออำนวยให้มีการแข่งขันในตลาดน้ำมันสำเร็จรูป
อีกทางเลือกในการคิดราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น คือการคิดราคาแบบ cost plus ซึ่งจะมีอุปสรรคในการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากขนาดโรงกลั่นน้ำมันมีความแตกต่างกันมาก โรงกลั่นน้ำมัน ทั้ง 3 แห่ง คือ บมจ. โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC) บมจ.ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น (PTTAR) และ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบมากสุด 280,000 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 22.50
ของความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบทั้งหมด รองลงมา คือโรงกลั่นน้ำมัน ของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบ 275,000 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 22.10 โรงกลั่นน้ำมันฝาง มีความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบน้อยที่สุด เพียง 2,500 บาร์เรล/วันคิดเป็นร้อยละ 0.20 เท่านั้น
ขณะที่เทคโนโลยีในการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละแห่งยังแตกต่างกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายของโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งแตกต่างกันมาก และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในโรงกลั่น เป็นข้อมูลที่โรงกลั่นน้ำมัน ไม่ต้องการเปิดเผย เพราะเป็นความลับทางธุรกิจ จึงไม่สมควรใช้แนวคิด ราคาต้นทุนบวกกำไรตามสมควร (cost plus) ในการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นได้
สำหรับแนวคิด import parity ที่ได้กำหนดให้ราคา ณ โรงกลั่นเท่ากับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้า อาจมีความเหมาะสมในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อให้ราคา ณ โรงกลั่น เท่ากับราคานำเข้า แต่ในปี 2563 โรงกลั่นน้ำมันในประเทศ มีความสามารถในการกลั่นน้ำมัน 1,244,500 บาร์เรล/วัน
และมี condensate อีก 84,835 บาร์เรล/วัน ซึ่งมากกว่าความต้องการภายในประเทศ 874,009 บาร์เรล/วัน และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 188,594 บาร์เรล/วัน จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันที่สามารถผลิตภายในประเทศ ซึ่งรวมที่กลั่นจากโรงกลั่นและ condensate มีปริมาตรมากกว่าความต้องการภายในประเทศ
ดังนั้น จึงน่าพิจารณาทบทวนการใช้แนวคิด import parity ในการกำหนดราคา ณ โรงกลั่น ในสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศที่สามารถส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปได้ โดยเปลี่ยนราคาอ้างอิงจากราคา CIF เป็นราคาน้ำมันในตลาด SIMEX ซึ่งเสมือนราคา FOB โดยมีค่าปรับคุณภาพน้ำมันเท่านั้น
การอ้างอิงราคา FOB จะสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานภาพของประเทศไทย จากผู้น้ำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เมื่อมีการเปลี่ยนราคาอ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่นจากราคา CIF เป็นราคา FOB ดังกล่าว ก็จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลง
สำหรับกลไกในการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น ถือ เป็นอำนาจของ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ดังเช่นที่เคยมีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 และ การปรับโครงสร้างราคา ณ โรงกลั่น ตามมติการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ในการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563
ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นของกลุ่มน้ำมันเบนซินและกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วตามโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จ ณ โรงกลั่น ตามที่ได้นำเสนอ จึงสามารถกระทำได้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลง 1.3043 บาท/ลิตร ทำให้ลดภาระของผู้ใช้น้ำมันได้ประมาณปีละ 59,305 ล้านบาทต่อปี ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ 120 เหรียญต่อบาร์เรล
หากในช่วงวิกฤตพลังงานและเศรษฐกิจ ประเทศไทยลดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันสำเร็จรูปเท่ากับคุณภาพน้ำมันในตลาด SIMEX ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น จะลดลงมาเท่ากับราคา MOPS หรือ ราคาตลาดซื้อขายน้ำมันเฉลี่ยที่ประกาศโดย Platts ที่สิงคโปร์ โดยไม่มีค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ก็จะทำให้ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.05 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล
ซึ่งเท่ากับ 0.4255 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งเท่ากับ 0.3259 บาท/ลิตร (อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท/เหรียญสหรัฐฯ) ทำให้ราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.7596 บาท/ลิตร และราคาขายปลีกของน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล 95 ลดลง 1.6530 บาท/ลิตร