เปิดแผน G-Token เงินดิจิทัลรูปแบบใหม่กระทรวงการคลัง ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก

26 มี.ค. 2568 | 07:42 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2568 | 12:15 น.

เปิดโมเดล G-Token เงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ของระทรวงการคลังสำหรับประชาชน ไม่ขัดพ.ร.บ.เงินตรา เปิดโอกาสให้รายย่อยลงทุนเริ่มต้นเพียง 20,000 บาท ได้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

ฐานเศรษฐกิจ - กระทรวงการคลังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการออกเงินดิจิทัลให้ประชาชนซื้อในรูปแบบ "G-Token" (Government Token) แทนการออกพันธบัตรรัฐบาลบางส่วน โดยเป็นวิธีที่ไม่ขัดกับพระราชบัญญัติเงินตรา 2501 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การออก G-Token เป็นการปรับรูปแบบการระดมทุนที่มีอยู่เดิม โดยเป็นการเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากพันธบัตรรัฐบาลที่ส่วนใหญ่ขายให้กับสถาบันการเงิน มาเป็นรูปแบบดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วยวงเงินที่ต่ำลง

ไม่ขัดพ.ร.บ.เงินตรา ไม่ใช่การพิมพ์เงินใหม่

มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 บัญญัติห้ามผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การออก G-Token จึงเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่สามารถกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขใด ๆ ในการอนุญาตได้

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า G-Token ไม่ใช่การพิมพ์เงินใหม่มาคู่ขนานหรือแข่งกับธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นวงเงินที่อยู่ในระบบในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลอยู่แล้ว เพียงแต่เปลี่ยนลักษณะและแพลตฟอร์มในการออก

"รัฐบาลเมื่อกู้หนี้ประชาชน ปกติเราออกมาปีละ 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่วงเงินดังกล่าวไม่สามารถไปถึงผู้ที่มีเงินฝาก 1-2 หมื่นบาทได้ ฉะนั้น เราจึงทำให้มีสเตเบิลคอยน์ โดยจะทำให้การแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้น ความหมาย คือ หากเป็นแม่ค้ามีเงินเก็บ สามารถไปซื้อพันธบัตรจากสเตเบิลคอยน์ ได้เลยแทนที่จะไปฝากเงินจากธนาคารแล้วได้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่ได้เป็นเงินใหม่ที่รัฐบาลพิมพ์" นายพิชัยกล่าว

เปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยเข้าถึงได้

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้ ประจำปีงบประมาณ 2568 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ วงเงินรวม 1,663,295.45 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. แผนก่อหนี้ใหม่ จำนวน 1,221,322.24 ล้านบาท 2. แผนบริหารหนี้เดิม 1,740,552.96 ล้านบาท และ 3. แผนการชำระหนี้ 489,380.65 ล้านบาท

ในส่วนของแผนการบริหารหนี้เดิม ประกอบด้วยแผนบริหารหนี้เดิมของรัฐบาลในส่วนที่เป็นหนี้ในประเทศ วงเงิน 1,646,035.72 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีหนี้ที่น่าจะนำออก G-Token ด้วยการทำปรับโครงสร้างเงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนด ได้แก่

  1. พันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังในปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 1 (รุ่นอายุ 7 ปี) วงเงิน 15,479 ล้านบาท
  2. พันธบัตรพิเศษของกระทรวงการคลังประเภททยอยชำระคืนเงินต้นในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 625 ล้านบาท
  3. พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "สุขกันเถอะเรา" ของกระทรวงการคลังในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 10,000 ล้านบาท
  4. พันธบัตรรัฐบาลปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 จำนวน 42,361 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามทางสบน.จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะนำหนี้ในส่วนไหนมาออก G-Token ขายให้กับประชาชน ในวงเงินเท่าไหร่ โดยเบื้องต้นการออก G-Token ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยก่อนหน้านี้จะกำหนดวงเงินในการซื้อขั้นต่ำที่ 20,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิม โดยผู้ซื้อจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น กระจายโอกาสในการลงทุนให้กว้างขวางขึ้น

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน ผ่านการทดลองเปิดลงทุน bond tokenization ซึ่งไม่ต้องมีสินทรัพย์มาการันตี คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2568 นี้  เบื้องต้นจะมีวงเงินประมาณ  5,000 ล้านบาท 

สามารถซื้อขายในตลาดรองได้

G-Token ที่ออกในช่วงแรกจะสามารถซื้อขายได้ในตลาดรอง เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลทั่วไป และในระยะยาว กระทรวงการคลังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มให้ G-Token สามารถใช้ซื้อขายสินค้าได้ด้วย

รัฐบาลมองว่า การออก G-Token จะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในระบบและเปิดช่องทางการออมที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากธนาคารทั่วไป โดยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องแย่งกัน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ทั้งในเรื่องของระบบที่จะรองรับ การป้องกันการทุจริต รวมทั้งข้อกังวลเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณเงินในระบบ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของ ธปท. ในประเด็นเสถียรภาพและประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน