นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สบน. อยู่ระหว่างขศึกษาออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ "G-Token" (Government Token) แต่ยังไม่ได้สรุปรายละเอียด
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การออก G-Token เป็นการปรับรูปแบบการระดมทุนที่มีอยู่เดิม โดยเป็นการเปลี่ยนแพลตฟอร์มจากพันธบัตรรัฐบาลที่ส่วนใหญ่ขายให้กับสถาบันการเงิน มาเป็นรูปแบบดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ด้วยวงเงินที่ต่ำลง
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะไม่ขัดพ.ร.บ.เงินตรา มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 บัญญัติห้ามผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การออก G-Token จึงเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่สามารถกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขใด ๆ ในการอนุญาตได้
สำหรับการออก G-Token เบื้องต้น คาดว่าจะกำหนดวงเงินในการซื้อขั้นต่ำที่ 20,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิม โดยผู้ซื้อจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น กระจายโอกาสในการลงทุนให้กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้ คาดว่า G-Token จะเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 2568 นี้ กรอบวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน การออก G-Token นั้น จะสามารถซื้อขายได้ในตลาดรองได้เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลทั่วไป และในระยะยาว กระทรวงการคลังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มให้ G-Token สามารถใช้ซื้อขายสินค้าได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลมองว่า การออก G-Token จะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในระบบและเปิดช่องทางการออมที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากธนาคารทั่วไป โดยที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องแย่งกัน
โดย สบน. มีแนวคิดที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่เข้ามาเป็นเพิ่มทางเลือกให้กับการระดมทุน และสนับสนุนประชาชนออมอีกช่องทางหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond : SLB) ช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลประเทศแรกในเอเชีย และรัฐบาลที่ 3 ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการออก SLB ต่อจากรัฐบาลของประเทศชิลีและอุรุกวัย
นอกจากนี้ การออก G-Token จะระดมทุนมาเพื่อบริหารหนี้เดิมที่จะมีการครบกำหนดในปีงบประมาณนี้ โดยข้อมูลจาก สบน. ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2568 สบน. มีแผนการบริหารหนี้เดิม อยู่ที่ 1,681,732.13 ล้านบาท ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นเดือนก.พ.68 บริหารแล้ว 979,795.14 ล้านบาท คิดเป็น 58.26%
ทั้งนี้ แบ่งเป็น