thansettakij
ส.อ.ท.ผุดไอเดียตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่สหรัฐ แก้เผ็ดทรัมป์

ส.อ.ท.ผุดไอเดียตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่สหรัฐ แก้เผ็ดทรัมป์

29 มี.ค. 2568 | 01:19 น.

ส.อ.ท.ผุดไอเดียตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่สหรัฐ หวังดูผลกระทบค่าครองชีพประชาชนอเมริกา แก้เผ็ดทรัมป์ขึ้นภาษีรถยนต์ 25%

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้ายานยนต์จากต่างประเทศทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยเริ่มจากอัตราฐานที่ 2.5% ซึ่งเป็นอัตราปัจจุบันไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 25% โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 68 นั้น ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ของทรัมป์ครั้งนี้คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกลดลงประมาณ 10%   

ทั้งนี้ในปี 2567 ไทยส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออก ทั้งหมด 31,041.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจากกรมศุลกากร)

โดยในปี 2567 ไทยส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กไปสหรัฐฯ มูลค่า 320 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ มีสัดส่วนการส่งออก 6.20% 

ขณะที่ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์มูลค่า 1,566ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ มีสัดส่วนการส่งออก 15% และเครื่องยนต์สันดาปมูลค่า 231 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กมูลค่า 38 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 46% ชิ้นส่วนยานยนต์ส่งออก 272 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.8% และเครื่องยนต์สันดาปมูลค่า 45.58 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้น 31%

“จะเห็นได้ว่าในปี 2567 ไทยส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐจำนวนมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีมูลค่า 1,566 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนส่งออก 15% ถือเป็นอันดับ 1 ที่ไทยส่งออก“

โดย 2 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปยังสหรัฐมีมูลค่า 272 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.95% หรือ คิดเป็นสัดส่วนส่งออกถึง 16% ซึ่งมาตรการขึ้นภาษีดังกล่าวจะกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยโดยตรงและอาจยืดเยื้อ ไม่เหมือนช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดผลกระทบแค่ระยะสั้นหลังจากนั้นยอดการส่งออกก็กลับมาปกติ โดยปี 2566 สามารถส่งออกได้กว่า 1.1 ล้านคัน

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นผลกระทบอาจจะไม่มาก เนื่องจากกระทบเพียงส่งออกรถยนต์ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 6.20% แต่การขึ้นภาษีระยะต่อไปจะกระทบกับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยโดยตรงเนื่องจากไทยส่งออกไปยังสหรัฐถึง 15% ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะเห็นชัดประมาณ มิ.ย.-ก.ค. นี้ 

และสามารถประเมินได้ว่าจะกระทบการส่งออกไทยมากน้อยเพียงใด โดยเบื้องต้นจะพิจารณาว่าจะคุ้มค่าหรือไม่หากไปตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่สหรัฐแทนการส่งออก และรอดูว่าประชาชนสหรัฐจะได้ผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นหรือไม่แล้วทางสหรัฐจะมีการผ่อนปรนหรือมาตรการอื่นมาทดแทน ซึ่งทาง ส.อ.ท.ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นทางกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ของ ส.อ.ท.ได้สอบถามไปยังสมาชิกถึงผลกระทบที่จะได้รับและมาตรการความช่วยเหลือต่างๆที่ต้องการเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือ ซึ่งหากรวบรวมเป็นที่เรียบร้อย ทาง ส.อ.ท.จะนำไปเสนอไปยังกระทรวงพาณิชย์ต่อไป