นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยในงาน EEC : NEW Chapter NEW Economy ช่วงเสวนาก้าวต่อไปอีอีซี ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยในปี 2564 เศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 1.6% ส่วนในปี 2565 เศรษฐกิจอยู่ที่ 3.6% และคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 อยู่ที่ 4.0% ขณะเดียวกันก่อนที่อีอีซีจะมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปี 2561 พบว่าทั้ง 3 จังหวัดในพื้นที่อีอีซี (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3% น้อยกว่าเศรษฐกิจระดับประเทศอยู่ที่ 4% แต่หลังจากนี้คาดการณ์พื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดในอีอีซีปี 2564-2566 จะมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.3-4.7% เร็วกว่าระดับในประเทศไทย
“หากพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดในอีอีซี มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศจะช่วยผ่อนภาระให้จังหวัดอื่นๆสามารถเติบโตได้ในระดับปกติที่ทำให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้”
ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 อยู่ที่ 6.3% ถือเป็นอัตราที่ไม่เยอะหากเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศอื่นๆ หากในปี 2566 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ในระดับ 105 ดอลลาร์ จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอยู่ที่ 2.6% แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ลดลงอยู่ในระดับ 90 ดอลลาร์ โดยสาเหตุที่คาดการณ์ลักษณะนี้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศมีนักท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะและมีการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ขณะที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปมีการฟื้นตัวกลับไปเท่าเดิมแล้ว คาดว่าไทยจะสามารถฟื้นตัวได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในครึ่งปี 2566
นายคณิศ กล่าวต่อว่า ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐแข็งค่า ทำให้ประเทศอื่นๆมีค่าเงินที่อ่อนค่าลง โดยไทยมีค่าเงินอ่อนค่าลงอยู่ที่ 6% เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐแข็งค่าอยู่ที่ 15% หมายความว่าไทยสามารถทำการค้าร่วมกับประเทศอื่นๆบริเวณใกล้เคียงได้ง่ายขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในเดือนตุลาคม 2565 คือแผน 13 :โอกาสในรอบ 100 ปี ถ้าไม่สำเร็จก็หมดหวัง โดยตั้งเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวไม่ต่ำกว่า 8,800 ดอลลาร์สหรัฐ ฯลฯ ทั้งนี้อีอีซีจะถูกวางให้เป็นเกตเวย์ ซึ่งในอนาคตจะต้องจับตาดู SEC ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง Game Changer ในประเทศไทย
สำหรับความสำเร็จใน 4 ปีแรก (ปี 2561-2565) ได้มีการอนุมัติเงินลงทุนแล้ว 1.8 ล้านล้านบาท จากเดิมที่วางเป้าหมายอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 1 ปี ซึ่งมาจากการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 655,821 ล้านบาท การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนโดย (BOI) วงเงิน 1,091,374 ล้านบาท และงบบูรณาการ วงเงิน 94,514 ล้านบาท โดยการอนุมัติงบลงทุนในครั้งนี้เป็นการใช้งบประมาณจากภาครัฐเพียง 5% ส่วนงบประมาณที่เหลือมาจากภาคเอกชนทั้งหมด
“เราไม่อยากให้อีอีซีเป็นพื้นที่ที่แย่งเงินในจังหวัดอื่นๆมาดำเนินการ เราไม่ทำ โดยเราใช้วิธีใหม่คือการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพราะฉะนั้นงบบูรณาการของภาครัฐจะใช้เพียง 5% ขณะที่การใช้งบของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อยู่ที่ 0.1% นี่คือวิธีบริหารที่เราเชื่อว่าเป็นความสำเร็จ”
ขณะที่การนำเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ (New-S-Curve) ได้มีการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2561-ไตรมาส2ของปี 2565 วงเงิน 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ (New-S-Curve) มีอัตราส่วน (Ratio) อยู่ที่ 36% โดยพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อุตสาหกรรมใหม่ (New-S-Curve) มีอัตราส่วน (Ratio) อยู่ที่ 49% ทำให้การลงทุนในธุรกิจใหม่ เช่น Automation , Digitalization ,Hospitality , Medical รวมทั้งการท่องเที่ยวระดับสูงเริ่มเข้ามามากขึ้น
นายคณิศ กล่าวต่อว่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานเชื่อว่าเราจะทรานเฟอร์ที่ดินให้เอกชนดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายปีนี้ และจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568-2570 เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนระหว่างปี 2566-2570 อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ให้กับเลขาอีอีซีคนใหม่ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง โดยเป็นการดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมายยานยนต์สมัยใหม่ 40,000 ล้านบาทต่อปี ,ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ 50,000 ล้านบาทต่อปี ,การแพทย์และสุขภาพ 30,000 ล้านบาทต่อปี,การขนส่งและโลจิสติกส์ 30,000 ล้านบาทต่อปี รวม 400,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ในช่วงปี 2566-2567 เป็นต้นไป คาดว่าพื้นที่อีอีซีจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ 7-9% ซึ่งจะทำให้ไทยขยายตัวได้ 5% และเข้าสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2570 หากทำได้ตามเป้าจะทำให้การขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง