นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา New Energy : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน หัวข้อ “นโยบายและทิศทางอนาคตพลังงานไทย” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของการนำพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้น ซึ่งทั้งหมดกำหนดเอาไว้ในแผนพลังงานชาติแล้ว
ทั้งนี้ยอมรับว่า เรื่องของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนมีความจำเป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันทั้งโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ผ่านมาภาคการผลิตของไทยเอง มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านตันต่อปี
ดังนั้นจึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องเดินน้าลดให้เหลือ 0 ด้วยวิธีต่าง ๆ ให้ได้ตามเป้าหมาย คือในปี ค.ศ. 2065 พร้อมทั้งวางระบบนิเวศใหม่ในด้านพลังงานสะอาด เช่น การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น โดยประเทศไทยต้องประกาศแนวทางดังกล่าวไว้ในแผนให้ชัดเจน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การส่งเสริมพลังงานสะอาดเพื่อผลิตไฟฟ้า จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว แม้ว่าจะมีความท้าทายอย่างมาก เพราะถ้าจะเปลี่ยนพลังงานสะอาดมาเป็นพลังงานหลัก ต้นทุนเหล่านั้นจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในเชิงนโยบายจะต้องมีการบริหารจัดการต่อไป
ส่วนการแสวงหาแหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ณ ปัจจุบัน ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ล่าสุดรัฐบาลได้เตรียมเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำการเจรจา เพื่อนำก๊าซมาใช้ให้ได้ใน 10 ปี ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลจะพยายามทำทุกวิถีทาง ทำทุกวัน แม้จะคืบหน้าไปทีละน้อย แต่เชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ในอนาคต และเป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศ
ด้านการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริม EV แล้ว และได้รับการตอบรับที่จากคนไทย โดยปัจจุบันมียอดจองรถยนต์ EV สูงที่สุดในอาเซียนมากถึง 1.8 หมื่นคัน ส่วนด้านการผลิต ในอนาคตจะมีผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทยหลายบริษัท เช่นเดียวกับการตั้งสถานีประจุไฟฟ้าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่พร้อมลงทุน
“วันนี้ยืนยันว่า จะมีการผลิตรถยนต์ EV ในไทยย่างแน่นอน ถึงแม้รถจำหน่ายวันนี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่การนำเข้าก็มีข้อกำหนดให้มีการสร้างโรงงานผลิตในไทยด้วย ซึ่งวันนี้มีเข้ามาแล้ว 4-5 รายแล้ว ล่าสุดคือ BYD ขณะที่เทคโนโลยีแบตเตอรี่ต่อไปก้ต้องพัฒนา มีชีวิตที่สองที่สาม ใช้นาน และชาร์จเร็ว อาจทำให้ราคารถยนต์ EV ในอนาคตถูกลง”
ขณะเดียวกันรัฐบาลยังพยายามหาทางในการปรับทิศทางการใช้พลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการใช้พลังงานใหม่ที่เป็นพลังงานสะอาด เช่น เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนีย ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีด้านการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ในหลุมปิโตรเลียมเก่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา
นอกจากนี้รัฐบาลยังส่งเสริมการประหยัดพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป้าหมายประหยัดพลังงานให้ได้จากปัจจุบัน 40% ซึ่งในระยะแรกกำหนดให้ประหยัดลงให้ได้ก่อน 20% และตอนนี้หลาย ๆ หน่วยงานโดยเฉพาะภาครัฐก็พยายามลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นลงมากแล้ว