เปิดรายชื่อ 4 มหาวิทยาลัย ผงาดแชมป์ "U2T for BCG National Hackathon 2022"

22 ส.ค. 2565 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2565 | 13:27 น.

กระทรวงอว.ประกาศ 4 สุดยอดแชมป์ประเทศไทยแข่ง U2T for BCG National Hackathon 2022 “ปลัดอว. ชี้นี่คือการใช้พลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาประเทศ ผ่านการระดมสมอง ระบุ เผยแพ้ - ชนะไม่สำคัญ เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงชุมชนที่เราอยู่

 โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล “U2T for BCG” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) จัดการแข่งขันชิงแชมป์ U2T for BCG National Hackathon 2022 ระดับประเทศ รอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาทักษะในโครงการ “U2T for BCG”  

 

ซึ่งเปิดโอกาสให้ทีม อว.ประมาณ 6.5 หมื่นคนมาร่วมระดมความคิดสร้างสรรค์หรือสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับ BCG หลังจากได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพตามความต้องการในพื้นที่จริงกว่า 7,435 ตำบล

 

เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ให้กับพื้นที่และสามารถปฏิบัติได้จริงเป็นรูปธรรมใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. ด้านเกษตรและอาหาร
  2. ด้านสุขภาพและการแพทย์
  3. ด้านพลังงานและวัสดุ
  4. ด้านพลังงานและการท่องเที่ยว 

 

เปิดรายชื่อ 4 มหาวิทยาลัย ผงาดแชมป์ \"U2T for BCG National Hackathon 2022\"

ทั้งนี้ ในรอบชิงชนะเลิศมี 36 ทีมสุดท้ายเข้าแข่งขัน หลังฝ่าฟันจากผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 308 ทีมจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานของทั้ง 36 ทีมและมีผู้สนใจมาชมนิทรรศการและร่วมลุ้นผลการแข่งขันเป็นจำนวนมาก

 

ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG กล่าวเปิดงานว่า กิจกรรม U2T for BCG National Hackathon คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมโครงการ U2T for BCG กว่า 65,000 คน ได้เข้าร่วมระดมความคิดอย่างสร้างสรรค์บนปัญหาและความต้องการในพื้นที่จริงกว่า 7,435 ตำบล

 

เพื่อให้ได้มาซึ่งสุดยอดสินค้าแและบริการ U2T for BCG ผ่านกระบวนการ Hackathon โดยอาศัยกลไกของ อว. ส่วนหน้า คัดเลือกจากผลงานกว่า 15,000 สินค้าและบริการใน 7,435 ตำบล ซึ่งมีผู้สนใจสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก และมีทีมที่ผ่านเข้ารอบระดับภูมิภาคจำนวน 308 ทีม

 

จากนั้นคัดเหลือ 36 ทีมสุดยอดผ่านเข้ารอบสุดท้าย โดยได้มีการจับคู่กับหน่วยงานใน อว.ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและให้คำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อเข้าสู่การแข่งขันชิงแชมป์ระดับประเทศ 

เปิดรายชื่อ 4 มหาวิทยาลัย ผงาดแชมป์ \"U2T for BCG National Hackathon 2022\"

“กิจกรรมนี้ถือเป็นการใช้พลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมพัฒนาประเทศ ผ่านการระดมสมองของเยาวชน อาจารย์ นักวิชาการ และประชาชน จากการลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนจริง ผลแพ้ชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะทุกไอเดียของการพัฒนาที่ทุกคนนำเสนอจะเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงชุมชนที่เราอยู่อย่างแน่นอน” ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ มหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T for BCG

จากนั้นได้เปิดการแข่งขัน U2T for BCG National Hackathon โดย 36 ทีมต่างนำเสนอผลงานกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้เป็น 1 ใน 4 ทีมสุดท้ายชนะเลิศได้แชมป์ U2T for BCG National Hackathon 2022 ปรากฎว่าหลังการแข่งขัน คณะกรรมการได้ประกาศรายชื่อทีมที่ชนะเลิศ จำนวน 4 ทีมท่ามกลางการลุ้นระทึกของกองเชียร์

 

ทีมที่ 1 ด้านเกษตรและอาหาร

  • ได้แก่ ทีมแซ่บอีรี่ ของ ต.ทัพเสด็จ จ.สระแก้ว โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากผลงาน “เส้นบะหมี่อบแห้งผสมโปรตีนจากดักแด้ไหมอีรี่” ที่เป็นการลดขยะจากกระบวนการเลี้ยงไหมอีรี่ให้เป็นศูนย์ โดยนำเอาดักแด้ที่เป็นเศษเหลือทิ้งจากกระบวนการเลี้ยงไหมอีรี่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน สร้างผลิตภัณฑ์ชุุมชน โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยไม่เหลือส่วนที่เป็นขยะทิ้งไว้ให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

 

ทีมที่ 2 ด้านสุขภาพและการแพทย์

  • ได้แก่ ทีมแฟรี่แลนด์จรเข้ใหญ่ ของ ต.จรเข้ใหญ่ จ.สุพรรณบุรี โดยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จากผลงาน “ผงโปรตีนปรุงรสจากชิ้นส่วนของปลาผสมกาบา” ซึ่งเป็นการลดขยะที่เกิดจากเศษซากปลาที่เหลือในชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยการนำส่วนประกอบของปลาที่เหลือมาสกัดสารออกมาโดยเฉพาะโปรตีนผสมกับกาบาที่มีอยู่ในข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจในชุมชน มาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ผงปรุงรสที่มีคุณค่าทางสารอาหารสำหรับผู้ป่วย NCD และบุคคลทั่วไป

 

ทีมที่ 3 ด้านพลังงานและวัสดุ

  • ได้แก่ ทีมเชียงคานสตอรี่ ของ ต.เชียงคาน จ.เลย โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จากผลงาน “เปลือกและกะลามะพร้าวมาแปรรูปเป็นปุ๋ย” ที่นำเปลือกและกะลามะพร้าวจากการผลิตมะพร้าวแก้วจำนวนมากในชุมชนมาแปรรูปเป็นวัสดุเพาะปลูก เพื่อลดขยะ รักษาระบบนิเวศ อีกทั้งยังสร้างรายได้ในชุมชน

 

ทีมที่ 4 ด้านท่องเที่ยวและบริการ

  • ได้แก่ ทีมการท่องเที่ยวสีเขียวเชิงสร้างสรรค์คลองปากปิด ของ ต.พงศประศาสน์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จากผลงาน “การท่องเที่ยวสีเขียวเชิงสร้างสรรค์คลองปากปิด” ที่ใช้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศมาช่วยแก้ปัญหาของชุมชน ทั้งเรื่องน้ำท่วมซ้ำซาก ขยะจำนวนมหาศาล ป่าชายเลนถูกทำลาย โดยให้นักท่องเที่ยวร่วมทำกิจกรรมเก็บขยะและปลูกป่าร่วมกับคนในชุมชน พร้อมได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน ที่เกิดจากคนสองวัฒนธรรมไทยพุทธและไทยมุสลิม ซึ่งถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนและยังเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลกและสร้างความสุขให้ชุมชนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย