นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนจัดหารถโดยสารไฟฟ้า (อีวี) จำนวน 3,200 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยให้เป็นไปตามข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่ให้ ขสมก. มาทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการฯ (ฉบับปรับปรุงใหม่) อีกครั้ง
สำหรับการปรับเพิ่มจำนวนการจัดหารถโดยสารดังกล่าวนั้น เนื่องจากแผนเดิมที่จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2563 มีแผนการจัดหารถจำนวนประมาณ 2,800 คัน เพื่อทดแทนรถโดยสาร ขสมก.ที่วิ่งให้บริการอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 2,800 คัน ใน 109 เส้นทาง และวิ่งให้บริการช่วยในเส้นทางเอกชน 19 เส้นทาง แต่ด้วยขณะนี้ รถมีสภาพทรุดโทรม และมีอายุการใช้งานค่อนข้างนาน จึงได้เสนอขอปรับแผนฯ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด รวมถึงสอดรับกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา ขสมก. ได้ดำเนินโครงการว่าจ้างซ่อมแซมตัวถังพร้อมทำสีรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) ยูโรทู ยี่ห้อฮีโน่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) จำนวน 323 คัน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เก่า และน่าจะใช้งานได้อีกประมาณ 5 ปี จึงได้พิจารณาปรับแผนรถจำนวนดังกล่าว ให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมด้วย
“ขณะนี้แผนฯ ดังกล่าว ยังไม่มีการตัดสินใจว่า จะดำเนินการอย่างไร จะเป็นการซื้อหรือเช่า ซึ่งเรื่องนี้ ขสมก.จะต้องพิจารณาตามหลักกฎหมาย เนื่องจากมีการใช้งบประมาณในวงเงินค่อยข้างสูงพอสมควร โดยต้องดำเนินการภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. และแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)”
ทั้งนี้คาดว่า ขสมก. จะสรุปแผนดังกล่าว เสนอให้คณะกรรมการบริหารกิจการองค์การ (บอร์ด) ขสมก. พิจารณาได้ภายใน 2 เดือนนี้ ก่อนจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง, คนร. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป โดยในระหว่างรอแผนดังกล่าวแล้วเสร็จ ขสมก. จึงมีแผนระยะสั้นในการจ้างเหมาบริการเดินรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 224 คัน วงเงิน 953 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า จะส่งมอบรถได้ในช่วงต้นปี 2566
ส่วนการจัดหารถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 3,200 คันนั้น ตามแผน จะต้องดำเนินการครบภายใน 3 ปี โดยทยอยนำรถเมล์ไฟฟ้ามาให้บริการผู้โดยสารปีละ 1,000 คัน ซึ่งใน ส.ค. 2565 พบว่า มีผู้ประกอบการเดินรถเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถจาก ขบ. ครั้งที่ 1 จำนวน 54 เส้นทาง จะนำรถเมล์ไฟฟ้ามาบรรจุในเส้นทางต่างๆ ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลจำนวน 150 คัน นอกจากนี้ในวันที่ 20 ส.ค. 2565 จะ Kick Off สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) แฮปปี้แลนด์–สะพานพุทธ และใน ต.ค. 2565 จะมีผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถจาก ขบ. จำนวน 77 เส้นทางในครั้งที่ 2 นำรถเมล์ไฟฟ้ามาให้บริการเส้นทางต่างๆ อีกจำนวน 780 กว่าคัน
นายสรพงศ์ กล่าวต่อว่า การทบทวนแผนฟื้นฟู ขสมก.ครั้งนี้ ขสมก.จะต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กร ที่ผ่านมา ขสมก. มีโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (เออรี่รีไทร์) รวมทั้งจัดหาบุคลากรที่มารองรับการให้บริการรถเมล์ไฟฟ้าในอนาคตด้วย เพราะจะต้องมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ขสมก.มีพนักงานอยู่ประมาณ 10,600 คน โดยยังขาดแคลนบุคลากรด้านวิศวกรไฟฟ้า และด้านระบบไอที
ทั้งนี้ในปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ในช่วงวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) อยู่ที่ 700,000 คนต่อวัน ส่วนวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อยู่ที่ 400,000 คนต่อวัน มีรถเมล์วิ่งให้บริการในระบบจำนวน 2,800 คัน โดยในขณะนี้ ขสมก. มีการปรับเพิ่มเที่ยววิ่ง เพื่อรองรับการเดินทางผู้โดยสารมากขึ้น จากเดิมมีเที่ยววิ่ง 17,000 เที่ยวต่อวัน ตอนนี้ปรับเป็น 19,000 เที่ยวต่อวัน สามารถรองรับผู้โดยสารใช้บริการได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 100,000 คนต่อวัน ขณะที่ มูลค่าหนี้สะสมของ ขสมก.ในปัจจุบันอยู่ที่ 133,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการจัดทำแผนฟื้นฟูฯ ครั้งแรกอยู่ที่ 124,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามแม้จำนวนผู้โดยสารจะใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เท่ากับช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 ระบาดเมื่อปี 2562 ที่มีผู้โดยสารใช้บริการ 1 ล้านกว่าคนต่อวัน ซึ่งจำนวนผู้ใช้บริการหลัก 1 ล้านกว่าคนนี้ ได้รวมทั้งรถเมล์ ขสมก. และรถร่วม ขสมก. แต่ปัจจุบันรถร่วมฯ ได้ไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ขบ. และได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถเส้นทางรถเมล์ต่างๆ โดยตรงจาก ขบ. จะทำให้ยอดรวมการใช้บริการของ ขสมก. ไม่ถึง 1 ล้านคนต่อวันเหมือนในอดีตที่ผ่านมา