ขสมก. ลุ้นคนร.ไฟเขียวรื้อแผนฟื้นฟูใหม่ ล้างหนี้ 1.3 แสนล.

01 ส.ค. 2565 | 06:54 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ส.ค. 2565 | 13:59 น.

“ขสมก.” จ่อรื้อแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ เล็งจัดหา รถอีวี จ้างเหมาบริการ ทดแทนรถไฮบริด-NGV เซฟต้นทุนค่าเหมาซ่อม-นํ้ามันเชื้อเพลิง หลังแบกหนี้อ่วม 1.32 แสนล้านบาทลุยชงบอร์ดอนุคนร.เคาะ ส.ค.นี้

มติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) สั่งการให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปรับแก้แผนฟื้นฟู กิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ซึ่งเป็นแผนขับเคลื่อน “BMTA MOVING PLAN” โดยมีการลิสต์รายละเอียดของแผนเดิมและสิ่งที่จะดำเนินการเสร็จแล้ว หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการนโยบายรัฐ วิสาหกิจ (คนร.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

 

นายกิตติกานต์ จอมดวงจารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)  แล้วจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) พิจารณาซึ่งสลค.จะต้องมีการสอบถามความเห็นเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นไปตามระเบียบก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

 

 

 “ส่วนจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้หรือไม่นั้น เราก็อยากดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเราได้เผื่อระยะเวลาดำเนินการของโครงการจ้างเอกชนวิ่งให้บริการรถโดยสารอีวี ไว้ 2 ปี แต่เราเชื่อว่าหากมีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นก็เป็นปัจจัยที่นำมาพิจารณาในแผนฟื้นฟูกิจการฯ คาดว่าจะดำเนินการให้จบได้โดยเร็ว”
 

นายกิตติกานต์ กล่าวต่อว่า หากแผนฟื้นฟูกิจการฯผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานทั้งหมดแล้วก็สามารถเดินหน้าต่อได้ ทั้งนี้จะต้องดูรายละเอียดของแผนฯด้วย เพราะอาจจะไม่ได้กำหนดแค่จัดซื้อรถโดยสารหรือเช่ารถโดยสารอีวี อาจมองถึงการจ้างเหมาบริการต่อและการร่วมลงทุนก็สามารถทำได้ เพราะรูปแบบการจัดหารถโดยสารอีวีมีหลากหลาย ดังนั้นต้องเลือกให้เหมาะสมกับองค์กร หากมีการจัดซื้อรถโดย สารอีวีตามเดิมก็จะเกิดภาระค่าใช้จ่ายในการเหมาซ่อมเหมือนเดิมรวมทั้งการติดตั้งสถานีชาร์จรถโดยสารอีวี สามารถช่วยแก้ปัญหาได้เพียงลดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงเท่านั้น แต่ถ้ามีการเช่ารถโดยสารอีวี ก็ต้องดูว่ากระบวน การเช่ารถเป็นอย่างไร สุดท้ายทรัพย์สินในการเช่าจะเป็นของใครก็ต้องมีการศึกษาในสิ่งที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจ้างเหมาบริการ จะปรากฏอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการฯทั้งหมดด้วย 

 

 

 

 “แผนฟื้นฟูกิจการฯ ฉบับเดิมพบว่าการจัดหารถโดยสารโดยเป็นการจ้างเอกชนร่วมเดินรถประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถของเอกชนนั้น มองว่าไปต่อได้ยาก เพราะเส้นทางดังกล่าว ทางกรมการขนส่งทางบกได้มีการเปิดให้เอกชนขอใบอนุญาตเดินรถตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสาร รวมทั้งรถโดยสารอีวี ที่ ขสมก.จะเช่าตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริงจากผู้ประกอบการ เพื่อนำมาวิ่งในเส้นทางเดินรถของ ขสมก.จำนวน 2,511 คัน ก็ต้องดูรายละเอียดว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ เพราะตามแผนเป็นการใช้รถโดยสารรูปแบบไฮบริดและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ไม่ใช่รถอีวีเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะต้องดูทิศทางให้เหมาะสม”
 

นอกจากนี้ในปัจจุบัน ขสมก.มีรถโดยสารที่ให้บริการประชาชนอยู่ที่ 2,885 คัน แต่รถโดยสารที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชนตามมาตรฐานการบริหารจัดการความถี่ของรถโดยสารสาธารณะ(Headway) ตามช่วงเวลาการให้บริการ (Time of Operation) ประกอบกับรถโดยสารสาธารณะที่มีอยู่ของ ขสมก. มีอายุการใช้มากกว่า 30 ปี มีสภาพเก่าชำรุดทรุดโทรมส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการต่อประชาชน อีกทั้ง ยังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพรถที่ให้บริการ ประกอบกับปัจจุบันขสมก. มีค่าใช้จ่ายในด้านการเหมาซ่อม เฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อปี ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง (นํ้ามัน ดีเซล) เฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรในด้านการเดินรถ ที่สูงมาก ส่งผลให้ ขสมก.อยู่ ในภาวะการณ์ขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจุบันขสมก.มีภาระหนี้สะสมอยู่ที่ 1.32 แสนล้านบาท 

 

 

ขสมก. ลุ้นคนร.ไฟเขียวรื้อแผนฟื้นฟูใหม่ ล้างหนี้ 1.3 แสนล.

อย่างไรก็ตามล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ประจำปีงบประมาณ 2566 รวมจำนวน 7,516 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้คํ้าประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ขสมก.ประหยัดค่าดอกเบี้ยค้างชำระได้เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่กู้เงินที่ภาระดอกเบี้ยค่าเชื้อเพลิงอยู่ที่ 5.82% ต่อปี ค่าเหมาซ่อมอยู่ที่ 6.35% ต่อปี รวมเป็นดอกเบี้ยที่ต้องชำระ 221.27 ล้านบาทต่อปี