รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่าเมือง (มอเตอร์เวย์)สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 71 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 40,787 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯได้มีการออกแบบรายละเอียดศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯแล้วเสร็จ รวมทั้งรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว และศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนของโครงการฯ แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อขอเจรจากับทางชายแดนมาเลเซียเพื่อดูรายละเอียดตำแหน่งที่ตั้งของด่านสะเดาแห่งที่ 2 ควรตั้งอยู่บริเวณใด เนื่องจากการเชื่อมต่อชายแดนอ.สะเดาแห่งที่ 2 จากประเทศมาเลเซีย ถือเป็นปัจจัยหลักของความคุ้มค่าในการดำเนินการของโครงการฯ ซึ่งมีผลต่อความไม่แน่นอนของกระแสรายได้โครงการฯค่อนข้างสูง เพื่อให้โครงการฯสามารถเชื่อมต่อบริเวณด่านฯดังกล่าวได้ จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและมาเลเซีย
“ส่วนการเจรจาบริเวณด่านชายแดนอ.สะเดาแห่งที่ 2 จะได้ข้อสรุปเมื่อไรนั้น คงต้องรอดูความชัดเจนนโยบายของทางรัฐบาลก่อน เพราะการเจรจาในครั้งนี้ต้องเข้าไปเจรจาในนามของรัฐบาลว่ามีความเหมาะสมตรงไหนที่จะสามารถตั้งด่านชายแดนฯได้ เพื่อรองรับการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน”
รายงานข่าวจากทล. กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกรมฯชะลอการเสนอขออนุมัติโครงการฯกับกระทรวงคมนาคม เนื่องจากติดปัญหาเรื่องด่านชายแดนมาเลเซีย ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้ดำเนินการบริเวณด่านใหม่ โดยทางมาเลเซียไม่ขอสร้างด่านฝั่งเขา เนื่องจากเดิมมีด่านชายแดนอยู่แล้ว หากมีการสร้างด่านเพิ่มจะทำให้ต้อใช้งบประมาณในการเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อปริมาณรถที่จะเข้ามาใช้บริการบริเวณด่านใหม่ รวมทั้งรูปแบบการลงทุนที่ศึกษาไว้เป็น PPP Net Cost อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี โดยภาครัฐจะต้องชำระเงินร่วมลงทุนพอสมควร เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจทำให้ภาครัฐยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ ทำให้ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการประมูลและก่อสร้างโครงการฯ หากสถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย รวมทั้งปัญหาการเชื่อมต่อด่านมาเลเซียได้ข้อยุติแล้ว กรมฯจะกลับมาทบทวนตัวเลขการลงทุนโครงการมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) ใหม่
ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการฯ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 ช่องจราจร และมีการเวนคืนบริเวณด่านชายแดนสะเดาแห่งที่2 ขึ้นไปทางทิศเหนือผ่านทางหลวงหมายเลข4 ด้านทิศตะวันตก สิ้นสุดบริเวณทางเลี่ยงเมืองหาดใหญ่ โดยเป็นการเวนคืนตลอดแนวเส้นทางใหม่ คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 7,000 ล้านบาท โดยมีแนวเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ประมาณ กม.1242+135 บริเวณ อ.บางกลํ่า จ.สงขลา แนวมุ่งลงทิศใต้ มีจุดสิ้นสุดที่ กม.62+596 ที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ใกล้กับด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีแนวเส้นทางเชื่อมเข้า-ออกสนามบินหาดใหญ่ (Spur Line) ระยะทาง 7.86 กิโลเมตร โครงการฯ ประกอบด้วย 1.พื้นที่ศูนย์บริหารทางหลวงพิเศษขนาดประมาณ 14 ไร่ และพื้นที่บริการทางหลวงพิเศษ ตั้งอยู่ 2 ฝั่งของทางพิเศษ มีขนาดพื้นที่ด้านละประมาณ 17 ไร่ 2.ทางแยกต่างระดับ 4 แห่ง 3.ทางลอด 4. ด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 แห่ง 5.อาคารศูนย์ควบคุมด่านเก็บค่าผ่านทาง 9 แห่ง 6.ระบบกู้ภัยและจัดการจราจรฉุกเฉิน
รายงานข่าวจากทล. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี (แหลมฉบัง) - นครราชสีมา ช่วงแหลมฉบัง – ปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ปัจจุบันกรมฯได้ออกแบบศึกษารายละเอียดความเหมาะสมช่วงแหลมฉบัง-ปราจีนบุรีแล้วเสร็จแต่ช่วงปราจีนบุรี-โคราช ยังไม่ได้ดำเนินการออกแบบศึกษารายละเอียด เนื่องจากที่ผ่านมากรมฯเคยเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ แต่ไม่ได้รับการจัดสรร หากได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 คาดว่าใช้ระยะเวลาการศึกษาไม่เกิน 2 ปี และศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนว่าจะดำเนินการลงทุนในรูปแบบใด หลังจากนั้นเปิดประมูลและเวนคืนที่ดินเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างต่อไป คาดว่าใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 4 ปี
ทั้งนี้รูปแบบการก่อสร้างโครงการ ประกอบด้วย รูปแบบทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (ช่วง กม.66+750 กม.124.065) รูปแบบทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.9+250 ถึง กม.66+750) รูปแบบทางหลวงขนาด 8 ช่องจราจร (ช่วง กม.0+000 ถึง กม.9+250) และรูปแบบทางหลวงยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ช่วง กม.17+900 ถึง กม.29+100) และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับ ประกอบด้วย ด่านศรีราชา ด่านบ่อวิน ด่านหนองใหญ่ ด่านบ่อทอง ด่านสนามชัยเขต และด่านศรีมหาโพธิ
สำหรับแนวเส้นทางโครงการฯเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี ได้แก่ อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา อำเภอหนองใหญ่ อำเภอบ้านบึง อำเภอบ่อทอง และอำเภอเกาะจันทร์ ขณะเดียวกันยังครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขต และ อำเภอพนมสารคาม ส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอศรีมหาโพธิ