ผิดเงื่อนไขประมูลสายสีส้ม “รฟม.” เคาะ ITD ผ่านฉลุย เกณฑ์คุณสมบัติ

07 ก.ย. 2565 | 10:48 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2565 | 17:53 น.

“สามารถ ราชพลสิทธิ์” ท้วง “รฟม.” อนุมัติ ITD ผ่านฉลุย เกณฑ์ข้อเสนอคุณสมบัติ เชื่อผิดเงื่อนไขประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หมดสิทธิเป็นคู่สัญญา ขัดพ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 62

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสบนเฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า กรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศผลพิจารณาข้อเสนอเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงมีนบุรี - บางขุนนนท์ เมื่อเร็วๆ นี้ รฟม. ได้ประกาศให้ ITD ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) แต่ ITD มีคุณสมบัติครบถ้วนจริงหรือไม่ รฟม. ทำผิดเงื่อนไขหรือไม่ ต้องติดตาม

 

 

ผมเฝ้าติดตามการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ด้วยความสนใจในคุณสมบัติของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เป็นอย่างยิ่ง เพราะคาดว่า ITD น่าจะมีปัญหาด้านคุณสมบัติ แต่เมื่อ รฟม. ประกาศให้ ITD ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ผมจึงรอดูว่า รฟม. จะดำเนินการต่อไปถึงไหน ? เพื่อรอเวลาอันเหมาะสมที่จะโพสต์เรื่องนี้ แต่ถึงวันนี้ (7 กรกฎาคม 2565) ทราบว่าประเด็นคุณสมบัติของ ITD เป็นที่รับรู้ของผู้เกี่ยวข้องในการประมูลแล้ว ทำให้ไม่มีประโยชน์ที่ผมจะรอต่อไป จึงต้องโพสต์เรื่องนี้ทันที

 

 

 1. รฟม. ประกาศเชิญชวนเอกชนให้ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รฟม. ได้ประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยให้เอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี)

 

 

 ในประกาศเชิญชวนดังกล่าว ได้ระบุไว้ชัดใน “ข้อ 3 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ” ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องไม่เป็นเอกชนหรือบุคคลที่มีลักษณะไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562

 

 

 เมื่อดูประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พบว่า ข้อ 3 (3) ระบุว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ” และข้อ 4 ระบุว่า “ในกรณีที่เอกชนตามข้อ 3 เป็นนิติบุคคล กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ด้วย” นั่นหมายความว่า กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลจะต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

2.  รฟม. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ)

 


เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 รฟม. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอทั้งหมด 2 ราย ปรากฏว่าทั้ง 2 ราย ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ประกอบด้วย (1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ (2) ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี

 

 

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า รฟม. ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของ ITD อย่างละเอียดครบถ้วนหรือไม่ ? รฟม. ไม่รู้จริงหรือว่า ณ วันที่ยื่นข้อเสนอ กรรมการคนหนึ่งของ ITD เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ?

 

 

 

3.  รฟม. เปิดซองข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค)
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 รฟม. ได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ของเอกชนทั้ง 2 ราย ที่ รฟม. ประกาศให้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใด รฟม. จึงเปิดซองข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ของ ITD ด้วย เนื่องจาก ITD น่าจะมีคุณสมบัติขัดหรือแย้งกับประกาศเชิญชวนฯ ของ รฟม. “ข้อ 3 คุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ” ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้ง ในประกาศเชิญชวนฯ ของ รฟม. ข้อ 9.3 วรรค 2 ระบุไว้ว่า “การประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติจะเป็นการประเมินแบบ ผ่าน/ไม่ผ่าน ซึ่งต้องมีความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสาร ตามข้อกำหนดของเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) เล่มที่ 1 ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ข้อ 19.1.2 (ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) และซองที่ 3 (ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน)”
 

ดังนั้น ในกรณีที่ ITD มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน แต่ รฟม. ได้เปิดซองข้อเสนอซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิค) ของ ITD ไปแล้ว จึงน่าคิดว่า รฟม. ทำผิดเงื่อนไขการประมูลหรือไม่ ?

ผิดเงื่อนไขประมูลสายสีส้ม “รฟม.” เคาะ ITD ผ่านฉลุย เกณฑ์คุณสมบัติ

 

4.  สรุป
การที่ รฟม. ให้ ITD ผ่านการพิจารณาข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ทั้งๆ ที่ ณ วันที่ยื่นข้อเสนอ กรรมการคนหนึ่งของ ITD เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกนั้น รฟม. เห็นว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน โดยเอกชนที่มีลักษณะดังกล่าว “ไม่มีสิทธิ์” ได้รับคัดเลือกเป็นคู่สัญญาร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กระนั้นหรือ ?

 

 

แล้ว “ความถูกต้องที่สาธารณชนถามหา” ในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งล่าช้ามากว่า 2 ปีแล้ว อยู่ที่ไหน ?

 

 

 

หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง