thansettakij

นักเศรษฐศาสตร์ สแกน ดิจิทัลวอลเล็ต “ไม่ตรงปก–ไม่คุ้มทุน”

27 มี.ค. 2568 | 10:14 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 10:23 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สแกนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต “ไม่ตรงปก–ไม่คุ้มทุน” ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร แนะรัฐบาลประเมินความคุ้มทุน ชูแนวทางแก้หนี้เรื้อรังควบคู่

หนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาลเพื่อไทย และถูกจับตาอย่างหนัก คือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” และเป็นหนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าโจมตีในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมุม “ไม่ตรงปก” และ “ไม่คุ้มทุน” ที่เริ่มก่อตัวเป็นข้อกังขาในหมู่ประชาชน

รายการเศรษฐกิจ ‘ฐานทอล์ค’ ได้พูดคุยกับ บุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการและ Chief Economist ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อตรวจการบ้านภาครัฐอย่างตรงไปตรงมา โดยระบุว่า การแจกเงินใน 2 เฟสที่ผ่านมา ประชาชนได้นำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ไม่ได้เกิดการหมุนเงินใหม่ในระบบเศรษฐกิจ จึงไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นได้มากนัก โดยประเมินว่า เงิน 1 บาทที่รัฐใช้ไป ได้ผลตอบกลับเพียง 0.3-0.4 บาทเท่านั้น ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรได้เท่าเดิมหรือมากกว่า

“เรื่องนี้แตกต่างจากโครงการคนละครึ่งที่เงินมาจากทั้งรัฐและประชาชน ทำให้เกิดการกระจายเม็ดเงินที่กว้างกว่า แต่ดิจิทัลวอลเล็ตที่แจกจบในรอบเดียว มันจบเลย ไม่ได้หมุนหลายรอบอย่างที่คาดหวัง"

 

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลทำตามแบบที่หาเสียงไว้ในตอนต้น คือแจกถ้วนหน้า จะคุ้มค่ากว่าหรือไม่ บุรินทร์มองว่า แม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่า แต่ก็ใช้งบประมาณสูง และยังไม่ตอบโจทย์โครงสร้างเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยเฉพาะภาคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภาคที่ซบเซาในขณะนี้

ทั้งนี้เสนอว่ารัฐควรใช้จังหวะนี้ "แก้หนี้" ควบคู่ไปกับการแจกเงิน โดยชี้ว่ากลุ่มหนี้ไม่ถึงแสนบาท มีอยู่ราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าแก้ได้จะเป็นการแก้อย่างยั่งยืน เพราะคนที่มีหนี้ ไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่จะไปจับจ่ายของแพง ๆ ได้อยู่แล้ว พร้อมระบุว่า ปัจจุบันการแจกเงินคือประทังชีวิต ไม่ได้กระตุ้นการเติบโตระยะยาว

เมื่อพูดถึงเฟส 3 ซึ่งเป็นการแจกให้กลุ่มอายุ 16-20 ปี บุรินทร์มองว่า มีโอกาสที่ “Multiplier Effect” จะมากขึ้น แต่อาจยังไม่ถึงระดับ 1 เช่นกัน และยังตั้งข้อสังเกตว่า เม็ดเงินที่แจกอาจไหลเข้าสู่ "รายใหญ่" มากกว่าผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME

สำหรับเฟส 4 ที่คาดว่าจะครอบคลุมกลุ่มอายุ 21-59 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานหลักนั้น มองว่าสามารถทำได้ ถ้างบประมาณยังมีพอ แต่ควรพิจารณาใช้ไปกับนโยบายอื่นที่ยั่งยืนกว่า เช่น แก้หนี้ หรือเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะเมื่อหนี้สาธารณะของไทยเริ่มเข้าใกล้เพดาน 70% ของ GDP

หากใช้งบประมาณจำนวนมากในตอนนี้โดยไม่ระวัง อาจทำให้ ไม่มีเงินสดไว้ใช้ยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต พร้อมระบุว่านโยบายในปัจจุบันยังส่งสัญญาณผิดในเรื่องแรงจูงใจด้านภาษี โดยเฉพาะเมื่อคนที่เสียภาษีรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์เท่ากับคนอยู่นอกระบบ อาจทำให้ระบบภาษีในระยะยาวสั่นคลอนได้