ในยุคสมัยที่การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่วิถี New Normal รวมถึงกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่เข้ามามีบทบาทและผลกระทบมากขึ้น ภายใต้ Rebranding “BEYOND BORDERS : ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด” “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร” กรรมการ และผู้จัดการทั่วไป บสย. ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และแผนช่วยเหลือเอสเอ็มอีของ บสย.ในช่วงครึ่งหลังปีนี้
-ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด
นายสิทธิกร กล่าวว่า บสย. BEYOND BORDERS ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด คือหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ ตามแนวทางการพัฒนาความยั่งยืนของ บสย. ครอบคลุมมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ยกระดับการบริการ ค้ำประกันสินเชื่อ ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เทคโนโลยี เชื่อมโยงและพร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ไม่มีที่สิ้นสุด มีความร่วมสมัยในยุคดิจิทัล ภายใต้ 3 วัตถุประสงค์หลัก ประกอบด้วย
1.สร้างภาพจำให้ชัดขึ้น ใน 2 บทบาทหลัก ได้แก่ หนึ่ง บทบาทการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มุ่งสู่ Digital Credit Enhancer ในการให้บริการและการดูแลลูกค้า SMEs รวดเร็ว รอบคอบ ใช้ดิจิทัล เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการ ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อ และลดการพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ โดยเฉพาะกลุ่มไมโคร ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เข้าถึงสินเชื่อ ด้วยหนังสือค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ใช้แทนหลักทรัพย์การยื่นกู้กับสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านเครดิต และสอง บทบาทการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน F.A. Center (Financial Advisor) ให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)
2.ภาพลักษณ์ใหม่ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีหลาย Generation ได้เข้าใจบทบาท และเข้าถึง บสย.ง่ายขึ้น ทั้งกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ หรือผู้สูงวัยที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ ผ่านการเชื่อมโยงในระบบนิเวศที่มีหลากหลายรูปแบบ
3.ตอบโจทย์กระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด สู่ทศวรรษใหม่ บสย.สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่จากภายในสู่ภายนอก โดยใช้ดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน และผลักดัน บสย. เข้าสู่ระบบ Digital Ecosystem เชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งการบริหารทางการเงิน Digital Lending และค้าขายออนไลน์ผ่าน e-Market Place
-ลุยค้ำประกันกระตุ้นปล่อยกู้
สำหรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2565 ในการช่วยเหลือ SMEs บสย. อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย.สร้างชาติระยะที่ 10 (PGS10) วงเงิน 150,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ SMEs 35,000 ราย และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ 180,000 ล้านบาท ซึ่งได้นำเสนอโครงการต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อพิจารณา คาดว่าจะดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 4
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneurs (ไมโคร 5) วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ SMEs 120,000 ราย และกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท โดยได้นำเสนอโครงการต่อ สศค. เพื่อพิจารณา และคาดจะดำเนินการได้ในไตรมาสที่ 4
อีกทั้งยังเร่งสร้างการรับรู้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ กับธนาคารพันธมิตร ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Supply Chain Finance กับธนาคารพันธมิตร ที่มีผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ เติมเต็มรายย่อย (PGS9) รวมถึงการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย.F.A.Center เดินสายพบปะผู้ประกอบการ ลูกค้า บสย. พร้อมตรวจเช็คสุขภาพธุรกิจ สร้างการรับรู้
นอกจากนี้ ยังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดโครงการให้ความรู้ทางการเงินและแก้หนี้ ผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน และร่วมกับ ธปท. จัดโครงการให้ความรู้ 4 ภาค เพื่อช่วยเหลือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และผู้ประกอบการ SMEs และช่วยเหลือลูกหนี้ ตามแผนงานแก้หนี้ยั่งยืน โดยหนึ่งในกิจกรรมความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ การร่วมออกบูธ ในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ บสย.แก้ปัญหาลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ (ก่อนฟ้อง)
-ยอดค้ำครึ่งปีกว่า 9.2 หมื่นล้าน
อย่างไรก็ดี บสย. ยังมุ่งเน้นภารกิจสำคัญ ได้แก่ ด้านการสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs และการเพิ่มจำนวนการช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนในระบบ โดยยอดค้ำประกันสินเชื่อ 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 65) อยู่ที่ 92,879 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้ 68,713 ราย
การขยายบทบาทการให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Center ซึ่งช่วง ม.ค.-มิ.ย. 65 มี ยอดผู้ขอรับคำปรึกษาสะสม จำนวน 9,458 ราย และมีจำนวนผู้ลงทะเบียนรับคำปรึกษาผ่าน ธปท. 3,748 ราย และเร่งเดินหน้ามาตรการช่วยลูกหนี้
ด้านวงเงินค้ำประกันสินเชื่อคงเหลือ (ณ วันที่ 1 ส.ค. 2565) ปัจจุบัน บสย. ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 9 วงเงิน ค้ำประกัน 150,000 ล้านบาท ล่าสุดมีวงเงินคงเหลือ 10,772 ล้านบาท (หรือค้ำประกันแล้ว 139,228 ล้านบาท) โดยคาดว่าวงเงินจะเต็มในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
สำหรับโครงการอื่นๆ ได้แก่ ค้ำประกันสินเชื่อโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra วงเงิน 90,000 ล้านบาท เฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในโครงการสินเชื่อ Soft Loan พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2 วงเงิน 100,000 ล้านบาท มีวงเงินคงเหลือ 25,110 ล้านบาท
“ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา บสย. ได้ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน มียอดค้ำประกันสินเชื่อสะสมมากกว่า 1.3 ล้านล้านบาท โดยช่วย ให้เข้าถึงสินเชื่อมากกว่า 740,000 ราย การจ้างงานมากกว่า 11 ล้านอัตรา สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 5.7 ล้านล้านบาท ซึ่งปี 2564 ได้ช่วยค้ำประกันสินเชื่อ มากกว่า 220,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง Micro ประมาณ 73% แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs อีกมาก และกลุ่มเปราะบาง ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนในระบบสถาบันการเงิน อีกกว่า 3 ล้านราย” นายสิทธิกร กล่าว