ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัวไก่สายพันธุ์ใหม่ ส่งเสริมเกษตรกรลดเวลาการเลี้ยงจาก 6 เดือน เหลือ 3.5 เดือน ในเทศกาล “ไก่เบขลา จากเบตงสู่สงขลา ... กำเนิดใหม่แห่งไก่เบตง” ในงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 28 ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ เป็นประธานเปิดงาน รศ. ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวรายงาน และนำเสนอผลงานวิจัย และโอกาสทางธุรกิจ ในการเลี้ยงไก่เบขลาแบบครบวงจร โดย ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
ไก่เบขลา พัฒนาสายพันธุ์โดยสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา โดยการใช้ไก่ พ่อพันธุ์ไก่เบตงพันธุ์แท้ ซึ่งเป็นไก่เนื้อพื้นเมืองของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีจุดเด่น คือ เนื้อแน่น หนังกรอบ ไขมันน้อย คอลลาเจนสูง ทำให้ไก่เบตง มีชื่อเสียงจนเป็นเอกลักษณ์ ผสมกับไก่แม่พันธุ์ทางการค้า เลี้ยงที่คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จึงให้ชื่อว่า ไก่เบขลา
การเลี้ยงไก่เบขลาช่วยลดระยะเวลาในการเลี้ยงลงมาเหลือเพียง 3เดือนครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงไก่เบตง ที่ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงถึง 6 เดือน จึงจะได้น้ำหนักตัว 2 กิโลกรัม ทำให้การเลี้ยงไก่เบขลาช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และค่าแรงงานในการเลี้ยง นอกจากนี้ ไก่เบขลายังมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีอัตราตายต่ำ เพียง 1-2 % ภายใต้สภาพการเลี้ยงแบบเปิด
การจัดเทศกาล “ไก่เบขลา” ครั้งที่ 1 “จากเบตงสู่สงขลา ... กำเนิดใหม่แห่งไก่เบตง” นอกจากมีการนำเสนอผลงานวิจัย และโอกาสทางธุรกิจในการเลี้ยง “ไก่เบขลา” แบบครบวงจรแล้ว ยังมีการมอบรางวัลประกวดตั้งชื่อไก่ลูกผสมเบตง พร้อมทั้งจัดให้มีการปรุงอาหารไก่เบขลา โดย เชฟก๊อต ภานุพันธุ์ มัณฑนานนท์ (Executive chef) โรงแรมคราม พัทยา ผู้ท้าชิงในการแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย (อาหารไทย) บังอาลี อะห์ลัม ไก่ อบ โอ่ง ของดีเมืองจะนะ ยอดขายวันละ 2,000 – 3,000 ตัว และเชฟชมรมสัตวบาล ม.อ. กับไก่ย่างสูตรดั้งเดิมในตำนานเด็กภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.ธัญจิรา เทพรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ และทีมงาน เปิดเผยว่า สาชาวิชาได้จัดแสดงผลงานนิทรรศการไก่เบตง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัย ที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจ การเลี้ยงไก่ลูกผสมเบตงและผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ให้กับผู้ที่สนใจ โดยจัดแสดงพันธุ์ การเลี้ยง และผลงานวิจัย ณ บริเวณแปลงสาธิต คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 12 - 21 สิงหาคม 2565