นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งว่าจากกรณีที่ไทยและอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย โอมาน ตุรกี อินเดีย และศรีลังกา ถูกรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดไต่สวนมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) สินค้าตะปู เนื่องจากอุตสาหกรรมภายในสหรัฐฯ ได้กล่าวหารัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของไทยว่ามีพฤติกรรมให้การอุดหนุน (Subsidy)
ผู้ส่งออกไทยผ่าน 13 โครงการ อาทิ โครงการสิทธิประโยชน์ในการลด/ยกเว้นภาษีบางรายการ โครงการสิทธิประโยชน์ลดหย่อนค่าไฟฟ้าของหน่วยงานด้านการไฟฟ้า และโครงการแทรกแซงค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าตะปูไปยังสหรัฐฯ ซึ่ง คต. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการแก้ต่างการใช้มาตรการ CVD ในกรณีดังกล่าว ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง13 หน่วยงาน เพื่อเป็นตัวแทนในการต่อสู้กับข้อกล่าวหาดังกล่าวของสหรัฐฯ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (United States International Trade Commission : USITC) ได้ประกาศยุติการไต่สวนการอุดหนุนสินค้าตะปูที่นำเข้าจากไทย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (Department of Commerce: DOC) ได้ประกาศผลการไต่สวนการอุดหนุนชั้นที่สุดว่าบริษัทผู้ผลิต/ส่งออกตะปูจากไทย (Steel Nails) ที่ได้รับเลือกให้ตอบแบบสอบถามจำนวน 2 ราย
มีอัตราส่วนเหลื่อมการอุดหนุนเพียง 0.05 - 0.10% ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ (De Minimis) จึงเข้าข่ายว่าไม่มีการอุดหนุน พร้อมทั้ง DOC ได้ประกาศยุติการไต่สวนการใช้มาตรการ CVD กับสินค้าตะปูจากไทย ส่งผลให้ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวจาก 5 ประเทศที่ถูกกล่าวหาที่จะไม่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บอากร CVD ในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้DOC พบว่าอีก 4 ประเทศ มีอัตราอากร ประกอบด้วย โอมาน 2.49 %ตุรกี 1.52 - 3.88% อินเดีย 2.73 - 2.93% และศรีลังกา 4.12%
ข้อมูลสถิติระหว่างปี 2560 - 2564 พบว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสินค้าตะปูที่สำคัญอันดับ 1 ของไทยมาโดยตลอด โดยในปี 2564 สหรัฐฯ มีการนำเข้าสินค้าตะปูจากไทยเป็นลำดับที่ 5 รองจาก จีน โอมาน ไต้หวัน และแคนาดา โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,355 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง83.72% ของการส่งออกตะปูทั้งหมดจากไทย ในขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าตะปูจากไทย มูลค่าสูงถึง 2,136 ล้านบาท คิดเป็นลำดับที่ 4 รองจาก จีน โอมาน และเกาหลีใต้
ดังนั้น การที่ไทยไม่ถูกเรียกเก็บอากร CVD จะส่งผลให้ไทยยังคงรักษาตลาดตะปู และปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าในสหรัฐฯ ได้ นอกจากนี้ การที่โอมาน ตุรกี อินเดีย และ ศรีลังกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สำคัญของสินค้าตะปูในสหรัฐฯ จะถูกเรียกเก็บอากร CVD ในการนำเข้า ยิ่งเป็นการสร้างแต้มต่อในการดึงดูดให้ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าตะปู จากไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ ไต่สวนการทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) สินค้าตะปูจากไทยอยู่ในขณะนี้ คาดว่าจะสามารถประกาศผลการไต่สวนชั้นที่สุดได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566