เปิดหนังสือ 5 ข้อ สมาคมเครือข่ายแท็กซี่ ยื่น "กรมขนส่ง" ดันรถอีวี

06 ก.ย. 2565 | 07:09 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.ย. 2565 | 14:17 น.

“สมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย” ยื่นหนังสือ 5 ข้อ “กรมขนส่ง” รุกแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า ลดมลพิษ-เซฟต้นทุนเชื้อเพลิง หลังโควิดระบาดหนัก กระทบหยุดให้บริการ

นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย เปิดเผยว่า วันนี้ (6 ก.ย.65) ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เรื่องขอให้ช่วยส่งเสริมรถแท็กซี่ใช้พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากตามที่ประเทศไทยถูกผลกระทบจากการระบาคของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรงที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และได้ส่งผลกระทบถึงอาชีพแท็กซี่ทั้งผู้ขับรถแท็กซี่ ผู้ประกอบการแท็กซี่ และสหกรณ์แท็กซี่ จากข้อมูลที่มีการยื่นขอจดทะเบียนรถแท็กซี่มิเตอร์ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 85,000 คัน แต่เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดมาตรการ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาคของโรคโควิด-19 ทั้งเรื่องการปิดประเทศ ปิดเมือง ปิดสถานบันเทิง รวมทั้งขอความร่วมมือให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทำงานอยู่ที่บ้าน ทำให้มีประชาชนออกมาใช้บริการรถแท็กซี่จำนวนลดน้อยลงอย่างมาก

 

เปิดหนังสือ 5 ข้อ สมาคมเครือข่ายแท็กซี่ ยื่น \"กรมขนส่ง\" ดันรถอีวี

 

สำหรับการยื่นข้อเสนอของสมาคมฯให้ ขบ. พิจารณากำหนดแนวทางเรื่องดังกล่าว จำนวน 5 ข้อ ดังนี้ 1.กำหนดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ให้ใช้งานได้อย่างน้อย 12 ปี เพื่อคุ้มค่าต่อการลงทุน 2.กำหนดขนาดของรถให้มีความหลากหลายเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการ และผู้ใช้งานรถแท็กซี่ 3.กำหนดอัตราค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง 4.ประสานกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมระบบการชาร์จไฟของรถแท็กซี่ให้มีคุณภาพ และราคาค่าไฟที่เหมาะสมกับอัตราค่าโดยสาร 5.ประชาสัมพันธ์โครงการรถไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการแท็กซี่ และผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ได้รับทราบอย่างทั่วถึงกัน ซึ่งการกำหนดนโยบายดำเนินการดังกล่าว เพื่อลดมลพิษ ลดต้นทุนเชื้อเพลิง ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง สร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการต่อไป

ทั้งนี้เมื่อประมาณกลางปี 64 ซึ่งเป็นช่วงที่มีผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ทำให้คงเหลือให้บริการอยู่ในช่วงนั้นจำนวนไม่ถึง 20,000 คัน แต่ละคันก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จะมีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยวันละ 2,000 บาท แต่เมื่อกลางปี 64 ในขณะที่มีจำนวนรถแท็กซี่ที่ให้บริการอยู่ขณะนั้นไม่ถึง 20,000 คัน รายได้แต่ละคันยังคงลดลงเหลือไม่เกิน 400 บาทต่อวันก่อนหักค่าใช้จ่าย

 

 

 

นายวิฑูรย์ กล่าวต่อว่า จากการที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องยาวนานมาเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี รถแท็กซี่จำนวนหลายหมื่นคัน ต้องหยุดการให้บริการและจอดไว้ข้างถนนหรือย่านชานเมืองของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสถานที่ส่วนราชการ เช่น สถานีกลางบางชื่อ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี เป็นต้น ขณะนี้ทางรัฐบาลได้มีการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 จนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เริ่มเข้ามาใช้บริการถแท็กซี่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ผู้ขับรถแท็กซี่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายวันละเกือบ 2,000 บาท

 

เปิดหนังสือ 5 ข้อ สมาคมเครือข่ายแท็กซี่ ยื่น \"กรมขนส่ง\" ดันรถอีวี

 

ขณะเดียวกันคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จำนวนรถแท็กซี่ที่มีให้บริการอยู่ ณ ขณะนี้ประมาณ 60,000 กัน จะไม่เพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องจากที่ผ่านมารถแท็กซี่ได้จอดทิ้งไว้เป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี ไม่สามารถกลับมาให้บริการได้ทั้งหมด เนื่องจากรถมีสภาพทรุดโทรมต้องปรับปรุงสภาพรถ และต้องใช้เงิน เพื่อลงทุนปรับปรุงสภาพรถมากกว่า 100,000 บาทต่อคัน ผู้ประกอบการซึ่งถูกผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ขาดเงินทุนหมุนเวียน อีกทั้งสถาบันการเงินต่างๆ ก็ระงับการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจแท็กซี่ เมื่อจำนวนรถแท็กซี่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน จึงจำเป็นต้องจดทะเบียนรถแท็กซี่เพิ่มขึ้นภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ อย่างน้อยจำนวน 30,000 คัน แต่จะให้ผู้ประกอบการซื้อรถสันดาปแบบเดิมที่เคยให้บริการอยู่ ผู้ประกอบการไม่กล้าจดทะเบียนรถแท็กซี่เพิ่ม

นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากจะต้องพบกับปัญหาเดิม คือ ต้นทุนสูงทั้งตัวรถ อะไหล่รถ และเชื้อเพลิงที่จะใช้กับรถแท็กซี่ทั้งแก๊ส NGV และ LPG เป็นต้นทุนที่มีการปรับราคาขึ้นอย่างมาก จึงเกรงว่าไม่คุ้มต่อการประกอบการแท็กซี่ ประกอบกับ ขบ. ได้จัดจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จากการวิจัยเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนารูปแบบแท็กซี่ไทยให้ทัดเทียมนานาอารยะประเทศ และหนึ่งในบทสรุปการวิจัยของ TDRI กล่าวว่าผู้ขับรถแท็กซี่มีรายได้ไม่เพียงพอถ้าเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำก็ยังน้อยกว่า ในขณะที่ต้องทำงานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมง หากจะให้มีรายได้เพียงพอจะต้องมีการปรับค่าโดยสารให้สูงขึ้นจะส่งผลกระทบถึงผู้ใช้บริการมีหนทางเดียวที่จะทำให้รายได้ผู้ขับรถแท็กซี่เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องปรับอัตราค่าโดยสาร จึงต้องใช้วิธีลดต้นทุนทั้งตัวรถ อะไหล่รถ และเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ในแต่ละวัน จึงเห็นควรอย่างยิ่งว่าจะต้องใช้รถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า จึงตอบโจทย์ได้ทุกเรื่องตามงานวิจัยของ TDRI ที่ได้สรุปมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงนำเสนอโครงการรถแท็กซี่ไฟฟ้าของสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด แต่จะให้โครงการบรรลุเพื่อให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพทันสมัย ลดต้นทุนเชื้อเพลิง อะไหล่รถ และการได้รับความนิยมจากประชาชน จึงต้องขอความร่วมมือส่วนงานราชการหลายหน่วยงาน รวมทั้ง ขบ. ที่จะต้องประสานงานกับส่วนราชการอื่นๆ เช่น กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กระทรวงการคลังในเรื่องการลดภาษีรถยนต์ที่จะนำมาทำเป็นรถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า

 

 

 

"ขบ. ควรถือโอกาสนี้ในการวางแผนพัฒนาระบบแท็กซี่สู่อนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องขนาดตัวรถ อายุการใช้งานของรถ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการที่จะต้องลงทุนพัฒนาระบบแท็กซี่พลังงานไฟฟ้า"