มะพร้าวไทยยังขาดแคลนหนัก คาดปีนี้ต้องนำเข้ากว่า 1 แสนตัน "กะทิชาวเกาะ"เจ้าเดียวขออนุญาตไว้ 6.6 หมื่นตัน ผลพวงหนอนหัวดำ-กระแสรักสุขภาพ-เกษตรกรปรับพื้นที่ปลูกพืชอื่น ชาวสวนเฮ มะพร้าวราคาพุ่งลูกละ 18 บาท "อำพลฟูดส์"เล็งขยายลงทุนไปพม่า
ปัญหาขาดแคลนมะพร้าวของอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ช่วงที่ผ่านมาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนพยายามหาทางแก้ปัญหา เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตสินค้าและอาหาร
นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตกะชาวเกาะและรอยไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวมากขึ้นและผลประโยชน์ก็จะตกไปถึงชาวสวนด้วย
ทั้งนี้หากย้อนไปในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลงต่อเนื่องจากที่ที่ผ่านมาเคยมีพื้นที่ปลูก 2.5 ล้านไร่ ในปี 2555 ได้ลดลงมาเหลือ 1.3 ล้านไร่ในปัจจุบัน พื้นที่ปลูกมะพร้าวที่หายไป เป็นผลจากมีการปรับพื้นที่ไปปลูกปาล์มน้ำมันและยางพารา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาพืชสวนกลุ่มนี้สูงกว่ามะพร้าว รวมทั้งปาล์มน้ำมันและยางพาราเป็นพืชได้รับการส่งเสริมให้ปลูกในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่การปลูกมะพร้าวเจอปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งเป็นศัตรูพืชตัวสำคัญของมะพร้าวทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลง
นอกจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลงแล้ว ยังได้รับกระทบจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีกระแสตื่นตัวให้ผู้บริโภคหันมาสนใจผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น น้ำมันมะพร้าว ซึ่งไม่ได้ตื่นตัวเฉพาะผู้บริโภคไทยแต่ผู้บริโภคในต่างประเทศก็ตื่นตัวด้วย ทำให้มะพร้าวกลายเป็นซูเปอร์ฟรุตอีกตัวที่ใช้งานได้หลากหลาย รวมทั้งความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่เพิ่มขึ้นจากอาหารไทยที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศด้วย
"จากผลผลิตมะพร้าวที่เข้าสู่ตลาดลดลง และมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวต้องนำเข้ามะพร้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่ามะพร้าวในประเทศเข้ามา โดยปัจจุบันราคารับซื้อมะพร้าวในประเทศอยู่ที่ลูกละ 18 บาท ขณะที่มะพร้าวนำเข้าคำนวณเป็นกิโลกรัม นำเข้าจากมาเลเซียราคากิโลกรัมละ 14 -15 บาท เวียดนามกิโลกรัมละ 15 บาท และพม่ากิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งในปี 2560 คาดว่าประเทศไทยจะนำเข้ามะพร้าวมากกว่า 1 แสนตันเฉพาะบริษัทอำพลฟูดส์ฯ ได้ทำเรื่องขออนุญาตไว้ที่ 6.6 หมื่นตัน"
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การทำธุรกิจแปรรูปมะพร้าวในปัจจุบันบริษัทไม่ได้มองเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบมะพร้าวมาแปรรูปเท่านั้น แต่ในอนาคตยังมองการขยายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยบริษัทมองการลงทุนที่เมียนมา เพราะปัจจุบันมีการนำเข้ามะพร้าวจากเมียนมาอยู่แล้ว
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแผนการลงทุน และไม่เฉพาะบริษัทที่มองการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวรายอื่นก็เริ่มไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ามะพร้าวอยู่แล้ว
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560