อุตสาอีสท์วอเตอร์" เร่งก่อสร้างท่อเส้นที่ 2 จากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยองไปยังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรี ให้เร็วขึ้น 1 เดือน เฉพาะระยะ10 กิโลเมตรแรก เพื่อเร่งน้ำไหลเข้าท่อได้ 2 หมื่นคิวต่อวัน ยังมั่นใจเอาอยู่ ด้านวงในชี้พื้นที่ฉะเชิงเทรายังต้องลุ้น ขณะที่ เกตเวย์ ลั่นมีน้ำป้อนถึงปีหน้า
นายเจริญสุข วรพรรณโสภาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้การบริหารจัดการน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำนั้น ล่าสุดในแง่อีสท์วอเตอร์ ยังมั่นใจว่าจะรับมือได้ และเพื่อให้ผู้ใช้น้ำมีความมั่นใจมากขึ้นจึงเร่งโครงการลงทุน700 ล้านบาทในการวางท่อส่งน้ำเส้นที่ 2 เพื่อดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยองไปยังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรี ระยะทาง 20กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในขณะนี้และมีกำหนดเสร็จในสิ้นเดือนเมษายนนี้นั้น
ล่าสุดได้เร่งก่อสร้างท่อระยะ10 กิโลเมตรแรกให้เสร็จเร็วขึ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เฉพาะส่วนนี้หากแล้วเสร็จจะทำให้มีน้ำเข้าท่อได้ราว 2 หมื่นคิวต่อวัน ส่วนระยะที่เหลือจะเสร็จตามกำหนดเดิมคือในสิ้นเดือนเมษายนนี้ หากเสร็จสมบูรณ์ในระยะเส้นท่อที่ 20 กิโลกเมตรจะได้ปริมาณน้ำเพิ่มมายังอ่างเก็บน้ำหนองค้อ จ.ชลบุรีประมาณ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร เพื่อมาหนุนการใช้น้ำในจังหวัดชลบุรีที่มีการใช้น้ำวันละ 2 แสนลูกบาศก์เมตร รวมถึงการซื้อน้ำมาจากแหล่งอื่นๆ มาเสริมด้วย โดยการใช้น้ำในจังหวัดชลบุรี จะแบ่งเป็นสำหรับการอุปโภค-บริโภค และภาคท่องเที่ยว รวมสัดส่วน 70% ของการใช้น้ำทั้งหมด และสัดส่วน 30% สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม
นายสมพล โนดไธสง อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี จะมีโรงงานอุตสาหกรรมกระจายอยู่กว่า 4 พันโรงงาน แบ่งเป็นโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมราว 3.6 พันโรงงานและตั้งสถานประกอบการอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมราว 1 พันโรงงาน ที่ส่วนใหญ่จะมีแหล่งน้ำดิบของตัวเอง และโรงงานที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานว่าขาดแคลนน้ำ ส่วนโรงงานที่ตั้งอยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมก็น่าจะรับมือได้จนกว่าจะพ้นฤดูแล้งไป เพราะบางอุตสาหกรรมก็ใช้น้ำไม่มาก
อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวอีกว่า ล่าสุด ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกมาให้นโยบายว่า น้ำเสียที่ออกจากโรงงานอุตสาหกรรมและผ่านการบำบัดแล้ว ที่ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการบางรายระบายออกสู่คลองสาธารณะนั้น หากมีเกษตรกรร้องขอใช้น้ำดังกล่าวให้มาขอกับอุตสาหกรรมจังหวัดได้ เพื่อที่จะแจงต่อกรมโรงงานอีกทีในการใช้น้ำดังกล่าวเพื่อตรวจสอบว่าน้ำนั้นได้ผ่านการบำบัดมาแล้วและเกษตรกรสามารถนำมาใช้ในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย
ขณะที่นายนิพนธ์ ฟูศรี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชลบุรี กล่าวว่า สถานะปริมาณน้ำใน 9 อ่างเก็บน้ำจังหวัดชลบุรียังอยู่ในขั้นบริหารจัดการได้ โดยทั้ง 9 อ่างเก็บน้ำมีความจุอ่างรวมกันอยู่ที่ 287.29 ล้าน ลบ.ม. ล่าสุดมีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 128.13 ล้านลบ.ม. โดยคาดว่าจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้ง 30 เมษายนนี้ จะมีน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเพียงพอ แต่ระหว่างทางก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งก็อาจจะมีบางอ่างเก็บน้ำต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระและอ่างเก็บน้ำหนองค้อ ซึ่งเป็น 2 อ่างหลักที่การประปาส่วนภูมิภาค จ.ชลบุรี และการประปาศรีราชาใช้ผลิตน้ำประปา
"ทั้งนี้ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2559 เฉพาะอ่างเก็บน้ำบางพระและอ่างเก็บน้ำหนองค้อ มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 39.59 ล้านลบ.ม. ในจำนวนนี้แบ่งเป็นปริมาณน้ำที่ใช้ได้ราว 26.53 ล้านลบ.ม. และเป็นระดับน้ำก้นอ่าง ปริมาณ 13.06 ล้านลบ.ม และคาดว่าระหว่างวันที่ 7 มีนาคม ถึง 30 เมษายน นี้จะมีน้ำที่ไหลลงอ่างเข้ามาอีกราว 3.04 ล้านลบ.ม. ก็น่าจะเพียงพอ นอกจากนี้กรณีถ้าไม่มีฝนตกก็มีแผนสำรองไว้แล้ว เช่น ขออนุมัติจากกรมชลประทานใช้น้ำก้นอ่าง เป็นต้น"
แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรมกล่าวว่า เวลานี้พื้นที่อุตสาหกรรมที่น่าจับตามองและต้องเฝ้าระวัง เพราะเกรงว่าปริมาณน้ำจะมีไม่เพียงพอ คือพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม 304 ฉะเชิงเทรา , นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ ฉะเชิงเทรา, นิคมอุตสาหกรรม ที เอฟ ดี ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ฉะเชิงเทรา เพราะเวลานี้บางจุดมีปริมาณน้ำใช้จำกัด
ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ภายในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ไม่มีปัญหาน้ำขาดแน่นอน ขอให้ลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่กว่า 80 โรงงานมั่นใจได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ใช้น้ำไม่มาก อีกทั้งบริหารจัดการเรื่องน้ำได้โดยมีปริมาณน้ำสำรองจากอ่างเก็บน้ำภายในนิคมเอง ที่มีมากถึง 7 ล้านคิว ซึ่งขณะนี้มีระดับน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บมากกว่า 6 ล้านคิว สามารถรองรับการใช้น้ำจากลูกค้าได้ถึงปี 2560
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559