EXIM ลุยCLMVพุ่งเป้าสู่ศูนย์กลางอาเซียน

15 มี.ค. 2562 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2562 | 05:06 น.

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) ประกาศเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการปล่อยสินเชื่อในอาเซียน หลังได้รับใบอนุญาต (License)จากธนาคารแห่งชาติกัมพูชาจัดตั้งสำนักงานผู้แทน(Representative)ในกรุงพนมเปญเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้มีสำนักงานผู้แทนครบ 3 แห่งตามนโยบายรัฐบาล หลังจากเปิดแห่งแรกที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาไปเมื่อปี 2559 ตามด้วยสำนักผู้แทนเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อปี 2561 และยังมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีกที่เวียดนามในปี 2563

อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมาย “การเป็นศูนย์กลางปล่อยกู้ในอาเซียน” ธนาคารจำเป็นต้องมีทุนที่แข็งแกร่ง เพราะเมื่อเทียบ EXIM ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะเห็นว่า EXIM ไทยมีฐานทุนน้อยกว่า ประกอบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยกว่า 10% ส่งผลให้เงินทุนที่จะรองรับการขยายตัวในอนาคตอาจจะไม่พอ จึงเสนอแผนเพิ่มทุน 1.5 หมื่นล้านบาทไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งจะสามารถรองรับการเติบโตได้ 3 เท่า ภายในระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2560-2569  

EXIM ลุยCLMVพุ่งเป้าสู่ศูนย์กลางอาเซียน

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เล่าให้ “ฐานเศรษฐกิจ” ฟังว่า กระทรวงการคลังเห็นชอบในหลักการแล้ว เหลือขั้นตอนการหาเงินมาใส่ให้ โดยธนาคารได้ทำแผนรองรับไว้ 2 กรณีคือ กรณีใส่เงินเพิ่มทุนเต็มจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท จะทำ ให้การเติบโตเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นติดปีกเติบโต แต่หากทยอยใส่เงินทุน อัตราการขยายตัวจะไม่สูงนักหรืออาจจะตันๆในการเติบโต 

“แม้ภาพรวมตลาดโลกจะผันผวน มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน เรายังคงเป้าหมายปล่อยสินเชื่อไว้ แต่อาจจะปรับเป้าส่งออกลงเล็กน้อย โดยเป้าสินเชื่อใหม่เติบโตสูงกว่า 11% หรือ 1.2 แสนล้านบาท เพราะแม้ตลาดธุรกรรมการค้าจะลดลง แต่ยังมีเรื่องการลงทุนที่ยังคงขยายตัว” 

ส่วนสำนักผู้แทนในเมียนมาและสปป.ลาวนั้น สิ่งที่ธนาคารเน้น 2 เรื่องคือ 1.กวาดโครงการที่คนไทยไปลงทุน โดยเฉพาะการรับประกัน เพราะใน CLMV จะไม่มีเรื่องของข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ทำให้การเก็บข้อมูลค่อนข้างลำบาก ส่งผลให้ต่างชาติไม่กล้ารับความเสี่ยงรวมถึงธนาคารพาณิชย์ไทยด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับประกันไปแล้ว 2 โครงการ วงเงินราว 5,000 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการรายเล็กๆ จะไม่ยอมทำประกันการลงทุน เพราะมองว่า ค่าเบี้ยประกันแพง เช่น วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท ค่าเบี้ย 1% คิดเป็นค่าเบี้ยรวม50 ล้านบาท เช่นเดียวกับสปป.ลาวที่ผู้ประกอบการไม่ค่อยทำประกันการลงทุน แต่จะเข้ามาขอประกันตอนที่พบหรือมีปัญหาแล้ว และ 2.หาคนซื้อสินค้าไทยในฝั่ง CLMV ซึ่งหากธนาคารสามารถขยายทั้ง 2 เรื่องได้จะส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อตามมาในภายหลัง 

สำหรับผลงานในตลาด CLMV ปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้าง 3-4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 30% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ซึ่งปี 2562 ตั้งเป้าสินเชื่อในกลุ่ม CLMV อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายใหญ่คือ ช่วยให้ผู้ประกอบการและลูกค้ารายกลางรายเล็กเข้าไปลงทุนหรือขยายธุรกิจใน CLMV เพราะรายใหญ่จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์เริ่มเข้ามาหลังจากที่มีความมั่นใจ โดยเข้ามาช่วยแบ่งเบาหรือเข้ามาช่วยปล่อยกู้ร่วม(Syndicated Loan)อย่างในกัมพูชามีลูกค้า 2-3 รายที่ธนาคารพาณิชย์เข้ามาช่วยปล่อยกู้ โดยปัจจุบันพอร์ตในกัมพูชามีอยู่ราว 2,300-2,400 ล้านบาท

“3 ปีที่ผ่านมา เราขยายตัวต่อเนื่องปี 2559 โต 13% ปี 2560 โต 11% และปีที่ผ่านมา เราโต 18% หากจะโตต่อไปและต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการใน CLMV และเป็นศูนย์กลางการปล่อยสินเชื่อในอาเซียน เราต้องมีเงินทุนมากกว่านี้ ซึ่งหากดูภาพรวมช่วง 2 เดือน เรามั่นใจว่าปีนี้น่าจะได้ตามเป้าหมายแม้จะมีเรื่องสงครามการค้าก็ตาม”  

หน้า19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3453 ระหว่างวันที่ 17 - 20 มีนาคม 2562

EXIM ลุยCLMVพุ่งเป้าสู่ศูนย์กลางอาเซียน