ประกาศค่าธรรมเนียมธนาคารประชาชน มีผลแล้ว 19 ก.ย. ดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมไม่เกิน 15% ค่าทวงหนี้ไม่เกิน 80 บาท ค่าธรรมเนียมโอนเงินไม่เกิน 40 บาท และค่าธรรมเนียมชำระเงินไม่เกิน 10 บาท
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ประกาศคณะกรรมการพัฒนาพัฒนาระบบสถาบันการเงินประชาชน 5 ฉบับ เพื่อกำหนดองค์กรการเงินชุมชน ธนาคารผู้ประสานงาน และหลักเกณฑ์การดำเนินงานเบื้องต้นของสถาบันการเงินประชาชน เพื่อให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน พ.ศ. 2562 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2562
ทั้งนี้ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม และค่าบริการ กำหนดอัตราดอกเบี้ยจากเงินฝากทุกประเภทสูงสุดต้องไม่เกิน 4.5% ต่อปี กรณีที่ให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม อัตราผลตอบแทนจากเงินฝากทุกประเภทสูงสุดต้องไม่เกิน 45% ต่อปี โดยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนจากเงินฝากของผู้ฝากเงินแต่ละประเภทรวมทั้งเงื่อนไขต่างๆ ต้องคำนึถึงความชัดเจน โปร่งใสและเท่าเทียมกันสำหรับเงินฝากของผู้ฝากเงินประเภทเดียวกัน
ส่วนอัตราดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15% ต่อปี กรณีให้บริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม อัตรากำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมใดๆ รวมแล้วต้องไม่เกิน 15% ต่อปี และกรณีที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้ตามที่จ่ายไปจริงและพอสมควรแก่เหตุ ต้องไม่เกิน 80 บาทต่อรายต่อเดือน และค่าธรรมเนียมในการให้บริการโอนเงิน ไม่เกิน 40 บาทต่อรายการ และค่าธรรมเนียมในการให้บริการรับชำระเงิน ไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ
ทั้งนี้สถาบันการเงินประชาชนต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันโดยอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดสัญญา หรือข้อตกลงที่เป็นรูปแบบมาตรฐานสำหรับสมาชิก ผู้ฝากเงิน หรือประชาชน เงื่อนไขต่างๆ ของสัญญาหรือข้อตกลงอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราผลตอบแทนจากเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยหรืออัตรากำไรจากการให้สินเชื่อค่าธรรมเนียม ค่ปรับ เพื่อให้สมาชิก ผู้ฝากเงินหรือประชาชน สามารถใช้ข้อมูลดังกล่วประกอบการตัดสินใจเลือกไช้บริการได้ตรงตามความต้องการ
“กำหนดให้กลุ่มออมทรัพย์/กลุ่มสัจจะ กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สถาบันการเงินชุมชน และวิสาหกิจชุมชนที่ให้บริการทางการเงินและไม่เป็นนิติบุคคล เป็นองค์กรการเงินชุมชนตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)และธนาคารออมสิน เป็นธนาคารผู้ประสานงาน”
อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนกับธนาคารผู้ประสานงานอย่างเป็นทางการ เพราะอยู่ระหว่างรอการออกประกาศคณะกรรมการฯ และประกาศนายทะเบียนสถาบันการเงินประชาชน แต่องค์กรการเงินชุมชนที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย เช่น มีทุนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท มีการจัดทำงบการเงินประจำปีต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี มีผลการดำเนินงานเป็นกำไรต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ที่สนใจจะยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงินประชาชนสามารถติดต่อกับธนาคารผู้ประสานงานไว้เบื้องต้นก่อนได้