‘หนี้ครัวเรือน’  โจทย์เชิงโครงสร้างรอแก้ไข

03 ม.ค. 2563 | 02:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2563 | 09:17 น.

ความวิตกต่อหนี้ครัวเรือน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจชะลอตัว แม้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะออกมาตรการทั้งเชิงบรรเทาภาระหนี้และป้องกันอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แต่สถานการณ์หนี้ครัวเรือนยังขยับสูงกว่า อัตราเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคหนี้ครัวเรือนของไทย ยังอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาค

นริศ สถาผลเดชาหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ระบุว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากที่ระดับ หนี้ครัวเรือนจะขยายตัวเกิน 80% ของจีดีพีในปี 2563 โดยความน่ากังวลอยู่ที่สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีถึง 4.27 ล้านล้านบาทจากหนี้ครัวเรือนรวม 12.6 ล้านล้านบาท รองลงมาเป็นสินเชื่อบ้าน 4.14 ล้านล้านบาทและสินเชื่อเช่าซื้อ 1.5 ล้านล้านบาท

หนี้ครัวเรือนบางประเภทมีความจำเป็น เช่น บ้านและรถเป็นการก่อหนี้เพื่อดำรงชีวิต แต่สินเชื่อส่วนบุคคลไม่รู้ว่าก่อหนี้ไปทำอะไร ซึ่งมีคนเกี่ยวข้องเกือบ 10 ล้านคน ค่อนข้างน่ากังวล เมื่อเทียบกับสินเชื่อบ้านซึ่งมีความจำเป็นแต่ไซซ์เล็กกว่า

นอกจากนั้น คนยังต้องการใช้สินเชื่อ โดยจะเห็นว่า หนี้ครัวเรือนอยู่กับระบบธนาคารพาณิชย์ 43% ซึ่งไม่ถึงครึ่ง รองลงมาอยู่กับสถาบันการเงินรัฐ (SFIs) 30% สหกรณ์ 16% และนอนแบงก์ 10% ดังนั้นแม้ว่าธปท.จะมีมาตรการกำกับดูแลระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ก็แค่ 43% ของหนี้ครัวเรือน ถ้าจะให้ได้ผล ต้องครอบคลุม SFIs สหกรณ์ด้วย เพราะธปท.เข้าดูแลนอนแบงก์มากขึ้น แต่ SFIs และสหกรณ์ ยังต้องหาแนวทางไปในซึ่งอาจจะไม่สามารถกำกับดูแลได้เท่ากับธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ควรเข้าไปกำกับในแง่ของสินเชื่อส่วนบุคคลใน SFIs และสหกรณ์

‘หนี้ครัวเรือน’  โจทย์เชิงโครงสร้างรอแก้ไข

 

ในแง่ประชาชน เนื่องจากเศรษฐกิจปี 2563 ยังคงชะลอตัว ฉะนั้นการจะก่อหนี้บ้านหรือรถยนต์ต้องคำนึงถึงภาระผ่อนต่อเดือนกับรายได้ต่อเดือน ถ้าสูงกว่า 50% อาจต้องแบกรับภาระหนี้ต่อเดือนมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ชีวิตด้านการเงินลำบากได้

ด้านพชรพจน์ นันทรามาศผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงในระดับ 78% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ แต่รายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ครัวเรือนยังต้องการสินเชื่อ แต่ความสามารถผ่อนชำระด้อยลง ดังนั้นในแง่การพิจารณาสินเชื่อ ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเรื่องโอกาสการเติบโตของรายได้ในอนาคตเป็นองค์ประกอบด้วย ที่สำคัญ ภาพรวมของหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างอาจจะอยู่กับเราไปอีกนาน จึงพูดได้ยากว่า จะปรับลดลง โดยเฉพาะประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้มากขึ้น จึงเป็นเหมือนเงาตามตัวที่จะมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นด้วย

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,535 วันที่ 29 ธันวาคม 2562 -1 มกราคม 2563

                       ‘หนี้ครัวเรือน’  โจทย์เชิงโครงสร้างรอแก้ไข