แบงก์ไทย แห่ปักธง ลงทุนเพื่อนบ้าน

19 ม.ค. 2563 | 23:30 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2563 | 06:32 น.

หลังจากธนาคารกรุงเทพ ประกาศบิ๊กดีล ทุ่ม 9.09 หมื่นล้านบาทเข้าซื้อกิจการธนาคารพีที เพอร์มาตา ทีบีเค (PT Bank Permata :TBK) แบงก์อันดับ 12 ของอินโดนีเซียเมื่อปลายปีก่อน ทำให้บรรยากาศการออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านคึกคักขึ้นทันที จากเดิมที่จะเป็นลักษณะการออกไปตั้งสาขาหรือสำนักงานตัวแทน หรือร่วมกับธนาคารท้องถิ่นในประเทศนั้นๆเท่านั้น

เริ่มต้นปี 2563 ก็มีข่าวออกมาจากทางเมียนมาว่า บมจ.ธนาคารกสิกรไทย อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมลงทุนใน ธนาคารเอยาวดี ฟาร์มเมอร์ ดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ หรือ เอแบงก์ (Ayeyarwaddy Farmers Development Bank: A Bank)

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยออกมาระบุว่า การลงทุนดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และธนาคารกำลังเจรจารูปแบบการลงทุนและโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา ซึ่งต้องคุ้มค่าต่อการใช้เงินและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และกฎหมายที่เกี่ยวข้องของทั้ง 2 ประเทศ

ทั้งนี้รูปแบบการดำเนินธุรกิจจะออกมา 1. จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ(Subsidiary) 2.จัดตั้งสาขาต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทยในเมียนมา (Foreign Bank Branch) และ 3.การเข้าร่วมลงทุนในธนาคารท้องถิ่นในประเทศเมียนมา (Equity Participation)

แบงก์ไทย แห่ปักธง ลงทุนเพื่อนบ้าน

สำหรับการขยายธุรกิจสู่ประเทศเมียนมานั้น ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่ทำให้ประชาชนและธุรกิจในเมียนมาสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น (Financial Inclusion) เสริมความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของเมียนมา ขยายโอกาสและความสัมพันธ์ให้แก่ธุรกิจข้ามระหว่างประเทศไทย-เมียนมาได้มากขึ้นด้วย

ด้านธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออกมาระบุถึงแผนการลงทุนเพิ่มในต่างประเทศว่า ธนาคารสนใจลงทุนเพิ่มในเมียนมา โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางเมียนมาเปิดโอกาสให้ธนาคารต่างชาติเข้าไปในหลายรูปแบบ จากปัจจุบันที่ธนาคารมีสำนักงานตัวแทนในเมียนมาอยู่แล้วและมีแผนจะยกระดับรูปแบบขึ้น โดยสนใจจะเป็นบริษัทย่อย(Subsidiary) เพราะมีอิสระที่จะทำได้หลายอย่าง เช่น การมุ่งสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ

 

ประเทศอื่นๆ เราก็สนใจเช่นกัน แต่ที่สำคัญต้องรู้ว่าสิ่งที่จะทำนั้น ทำอะไร เพื่ออะไร ได้อะไร โดยไม่เกินตัว

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยกล่าวถึงนโยบายการลงทุนต่างประเทศว่า ยังโฟกัสการทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งปัจจุบันมีสาขาในอินเดีย สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว รวมทั้งสำนักงานตัวแทนในเมียนมา ล่าสุดประกาศปิดสาขาลอสแองเจลิสในสหรัฐอเมริกา

ขณะที่นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แนวโน้มธนาคารกลางของแต่ละประเทศในกลุ่ม CLMV จะเปิดให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุน เพื่อสร้างมาตรฐาน ส่วนหนึ่งหวังจูงใจให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นขยายการลงทุน ซึ่งเหมือนเมืองไทยในยุค 30 ปีก่อน โดยธุรกิจที่จะเข้าไปในประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจรายย่อย เพราะตลาดกลุ่มนี้ยังมีความต้องการบริการรายย่อยมากกว่ารายใหญ่

 

สำหรับกลยุทธ์ของธนาคาร เน้นการขยายตลาดรายย่อยก่อน ส่วนใหญ่จะออกไปลงทุนในรูปแบบการหาพันธมิตรท้องถิ่น เพราะมีประสบการณ์อยู่แล้ว เป็นลักษณะสถาบันการเงินท้องถิ่น (Local Finance) ซึ่งสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

เรามีทีมดูแลด้านต่างประเทศ ซึ่งจะมองหาโอกาส อย่างตลาดเวียดนามก็มีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม CLMV และตลาดเมียนมา แต่การหาพาร์ตเนอร์ในเวียดนามยาก เพราะเขาเพิ่งเปิดให้บริการ เช่นเดียวกับที่เราต้องการเรียนรู้และศึกษาความเป็นไปได้ แม้ว่าเราจะทำตลาดเล็กๆ ก็ตาม

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19-22 มกราคม 2563