จากข้อมูลรายงานโดย"ทริสเรตติ้ง" ระบุว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดย"ทริสเรตติ้ง" ณ สิ้นปี 2562 มี 22 บริษัทมียอดหุ้นกู้คงเหลือประมาณ 2.43 แสนล้านบาท คิดเป็น 60% ของหนี้สินทางการเงินโดยรวมของผู้ประกอบการทั้งหมด โดยมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปีนี้ 8.93 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 2.34 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ระยะยาว 6.59 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ค่ายอสังหาฯต้องระดมทุนมาชำระคืน และส่วนหนึ่งเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนใช้ดำเนินธุรกิจในปีนี้
อย่างไรก็ดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลาดเงินผันผวนทำให้ตลาดตราสารหนี้เกิดแรงเทขายออกมาเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักลงทุนต้องการถือเงินสดในสถานการณ์นี้มากกว่า จึงไม่ต่างกับ"ปิดทาง"การระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้ แม้จะมีต้นทุนถูกกว่าการกู้จากสถาบันการเงินราว 1.00-1.50%ก็ตาม
"หุ้นกู้โนเบิล-อนันดา" ขายฝืด
จากการสำรวจของ"ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าไตรมาสแรกปีนี้ อสังหาฯโดยเฉพาะรายกลาง-เล็ก ที่ออกหุ้นกู้ ไม่ประสบความสำเร็จ "ยอดขายได้ต่ำกว่าที่เสนอขายมาก" และคาดว่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทอื่นที่จะออกตามหลังจากนี้ อาจต้องทบทวนปรับขนาดวงเงิน รวมถึงแบกต้นทุนที่สูงขึ้น จากการยอมจ่าย"ดอกเบี้ย"ที่สูงกว่าสถานการณ์ปกติ
อย่างน้อย 2 บิ๊กเนมที่ประเดิมออกมาขาย คือ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN ) เสนอขายหุ้นกู้ ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ ไปเมื่อวันที่ 30 มี.ค.- 1 เม.ย.63 ที่ผ่านมา 2 รุ่น คืออายุ 2 ปี 6 เดือน ผลตอบแทน 4.00% ต่อปี และอายุ 3 ปี 6 เดือน ผลตอบแทน 4.50% ต่อปี มูลค่าไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยมีส่วนสำรองเพื่อเสนอขายเพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 2,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 4,000 ล้านบาท หุ้นกู้ฯ ANAN ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากทริสเรทติ้ง ที่ระดับ BBB
แต่ปรากฏว่าขายได้จริงเพียง 1,169.90 ล้านบาท หรือขายได้ประมาณ 30% จากยอดที่จะเสนอขาย 4,000 ล้านบาท
ล่าสุด คือบมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) ปิดขายไปเมื่อวาน ( 22 เม.ย.63 ) เสนอขายหุ้นกู้มูลค่าไม่เกิน 1,500 ล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.50% เปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 20-22 เม.ย.2563 การเสนอขายหุ้นครั้งนี้ เพื่อนำเงินไปชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดมูลค่า 1,500 ล้านบาท ปรากฏว่ามีนักลงทุนจองซื้อหุ้นเป็นวงเงินกว่า 480 ล้านบาท หรือเพียง 32% ของหุ้นกู้ที่เปิดขาย
นายธงชัย บุศราพันธ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่าสาเหตุที่นักลงทุนจองซื้อต่ำกว่าที่เปิดขาย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ที่ผ่านมาตลาดการเงินมีความผันผวน ตลาดตราสารหนี้ได้รับผลกระทบมีการขายออกจำนวนมาก รวมถึงนักลงทุนต้องการจะเก็บเงินสดในภาวะนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทฯขายหุ้นได้ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัท เพราะบริษัทมีวงเงินกู้โครงการ(โปรเจคไฟแนนซ์)อยู่ สามารถเบิกเงินกู้ดังกล่าวไปชำระหนี้หุ้นกู้ที่ครบกำหนดได้ และปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไม่ได้สูงอยู่ที่ระดับ 3.5% ประกอบกับบริษัทมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี มีเงินสดในมือประมาณ 2 พันล้านบาท สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจในปีนี้ได้ โดยบริษัทยังคงจ่ายปันผลในอัตรา 2.20 บาทต่อหุ้น โดยขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นจะอนุมัติหรือไม่ในวันที่ 29 เม.ย.2563
"สถานการณ์โควิด-19 ระบาด ทำให้บริษัทคาดการณ์ไว้แล้วว่าคงจะขายหุ้นกู้ได้ไม่ตามเป้าอยู่แล้ว โดยสามารถขายได้ประมาณกว่า 400 ล้านบาท หรือ ประมาณ 30 % ของหุ้นกู้ที่เปิดเสนอขายนั้น ก็ถือว่าดีกว่าที่บริษัทประเมินไว้ " นายธงชัย ชี้แจง
ปรับลดวงเงินหุ้นกู้ -หันกู้แบงก์แทน
ด้านนายสรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าการออกหุ้นกู้ในสถานการณ์นี้ค่อนข้างลำบาก ดีมานด์นักลงทุนกลุ่มนี้หาย "ปิดทาง"การออกหุ้นกู้ อย่างไรก็ดีค่ายอสังหาฯสามารถระดมทุนโดยวิธีอื่นอยู่แล้ว เช่นกรณีบมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ขายหุ้นกู้ได้ไม่ครบ ยังมีกระแสเงินสดในมือ รวมถึงการออกตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด ขณะที่หลายค่ายมีวงเงินเบิกจ่ายกับสถาบันการเงิน ( โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ )ที่ยังไม่ได้ใช้ เพียงแต่ว่าอาจต้องแบกรับภาระต้นทุนดอกเบี้ยกู้ที่จ่ายแพงกว่าหุ้นกู้ ยกเว้นรายใหญ่ที่เรตติ้ง ดีจริงๆก็ไม่มีปัญหาส่วนนี้.
"ในส่วนบจ.อสังหาฯภายใต้การศึกษาของบล.กสิกรไทย ซึ่งมี 10 บริษัท มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระคืนภายในปีนี้ประมาณ 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่อย่างที่กล่าวกลุ่มนี้ไม่น่ากังวล ที่ห่วงน่าจะเป็นรายกลางและรายเล็กที่อยู่นอกตลาดมากกว่า เพราะสายป่านไม่มี ส่วนบจ.ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ฯอย่างน้อยมีสถาบันการเงินที่คอยสนับสนุน และขณะนี้สถานการณ์ตลาดเงิน-ตราสารหนี้ เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากที่ภาครัฐ ( ธปท.- คลัง ) ออกตัวแรงในการเข้าช่วยเสริมสภาพคล่อง ทั้งที่ความจริงแล้วการกู้จากกองทุน"พยุงหุ้นกู้เอกชน" หรือ BSF ( Corporate Bond Stabilization Fund ) เงื่อนไขไม่ง่ายเลย" นายสรพงษ์ กล่าว และว่า แนวโน้มการออกหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหาฯหลังจากนี้ คาดจะมีทบทวนปรับลดขนาดวงเงินลง และหันไปไฟแนนซ์เงินจากแหล่งอื่นมากขึ้น
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศุภาลัย (SPALI)กล่าวว่าบริษัทมีความมั่นใจในการชำระหุ้นกู้ ถึงคิวครบกำหนดชำระว่าสามารถจ่ายคืนได้หมด โดยจะใช้กระแสเงินสดภายในบริษัท ที่เกิดขึ้นจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งปี รวมมูลค่าทั้งปี 2.4 หมื่นล้านบาทมารองรับ
ด้านบมจ.แสนสิริ (SIRI)โดยนายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ กล่าวว่าบริษัทมีหุ้นกู้ที่จะครบไถ่ถอน 1 ล็อต มูลค่า 5 พันล้านบาท โดยเตรียมจะทยอยคืนในช่วง 3 เดือน ( เม.ย.- มิ.ย.63) อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีความกังวลแต่อย่างใด ในแง่เงินทุนที่จะนำมาพัฒนาโครงการใหม่ตามแผน ทั้งหมด 18 โครงการ มูลค่ากว่า 2.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 นี้ เนื่องจากก่อนหน้าได้ประสบความสำเร็จจากการนำเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 4 พันล้านบาทให้กับนักลงทุน เตรียมรองรับไว้พร้อมแล้ว ตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านสภาพคล่อง และกระแสเงินสด
จับตา"หุ้นกู้อสังหา"รายต่อไป
จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัทอสังหาฯที่จะออกหุ้นกู้ขายในเร็ว ๆนี้ ได้แก่
1.บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) เสนอขายวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 อายุหุ้นกู้ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2565 โดยขณะนี้ยังไม่ได้ระบุวงเงินที่จะออก ,2.บมจ. ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ ( CI )ขายหุ้นกู้วงเงิน 1,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 6.25% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ เสนอขายวันที่ 27-29 เม.ย.นี้ , 3 .บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ (LALIN) เสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 500 ล้านบาท อายุ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.70% อันดับเรตติ้งหุ้นกู้ที่ BBB+ เสนอขายวันที่ 27-29 เม.ย.นี้ ขณะที่บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หรือ ORI เตรียมจะออกตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange: B/E)เร็ว ๆนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบริษัท
จับตา! หลังจากนี้ค่ายอสังหาฯ จะพลิกแพลงต่อลมหายใจ"สภาพคล่อง" อย่างไร แต่ที่แน่ๆคือวิกฤติครั้งนี้จะไม่ซ้ำรอยปี 2540 เป็นแน่.