มีนาคม64 เคลมประกันโควิดพุ่ง 3 พันล้าน

29 เม.ย. 2563 | 06:00 น.

วินาศภัยปรับเป้าทั้งปี เบี้ยรับลบ 3% บนคาดการณ์จีดีพีหดตัว 5-6%นายกสมาคมฯ ลุ้นผลเคลมประกันโควิดอีก 11 เดือน หลังยอดขายทะลุ 3 พันล้านบาท แนะรัฐทยอยเปิดเมืองเฉพาะพื้นที่ปลอดเสี่ยง 

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่แพร่ระบาดมาตั้งแต่เดือนมีนาคม หากลดลงและไม่พบผู้ติดเชื้อหรือป่วยเพิ่มขึ้น สามารถกลับมาปกติได้เดือนมิถุนายน คาดว่าแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยจะกลับมาดีขึ้นได้ในครึ่งปีหลัง เพราะการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย ขึ้นกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยปกติหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน จะเห็นธุรกิจประกันวินาศภัยจะขยายตัวตาม 

มีนาคม64 เคลมประกันโควิดพุ่ง 3 พันล้าน

อานนท์ วังวสุ

อย่างไรก็ตาม หากครึ่งปีแรก ธุรกิจสามารถระวังได้ดี แนวโน้มครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้เร็ว เพราะธุรกิจทัวร์ หรือ โรงงาน พวกนี้ไม่ได้เสียหายเหมือนกับปีที่เกิดวิกฤตินํ้าท่วม เพียงแต่ไม่มีคนมาใช้บริการ หรือถ้าผลิต ก็ไม่มีกำลังซื้อแต่หากระบบเศรษฐกิจกลับมาหมุนเวียน ธุรกิจเหล่านี้สามารถกลับมาเดินธุรกิจได้ทันที 

“แผนธุรกิจปี 2563 ต้องปรับเปลี่ยนแน่นอน จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 5% บนสมมติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวประมาณ 3% แต่ปัจจุบันตลาดปรับลดคาดการณ์จีดีพี ที่มีโอกาสติดลบ 5-6% ส่วนของธุรกิจประกันภัยอาจจะติดลบ 3% เพราะเราจะช้ากว่าเศรษฐกิจสัก 3 เดือน แต่โดยรวมทั้งปี หากอยู่ในสภาพทรงตัว ก็ถือว่าเป็นความโชคดี เพราะประเด็นอยู่ที่เศรษฐกิจจะเริ่ม Start เมื่อไร แต่การที่ระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออก 60-70% ถ้าต่างประเทศยังพบการติดเชื้อโควิด หากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ไม่ฟื้นเราก็ลำบาก แต่อาจจะดีกว่าตลาดโลกนิดเดียวถ้าเศรษฐกิจจีนกลับมาดีที่เราจะได้พึ่งบ้าง”

ส่วนยอดขายประกันโควิดมาแรงในปีนี้จากการตอบรับที่ดีจากประชาชน  โดยเห็นได้จากกรมธรรม์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 8 ล้านกรมธรรม์ และมีเบี้ยรับเพิ่มกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ภาคธุรกิจยังไม่สามารถรับผลบวกทั้งจำนวน เพราะกรมธรรม์โควิดที่ขายส่วนใหญ่จะคุ้มครอง 1 ปี ซึ่งเริ่มขายจริงจังเดือนมีนาคม กว่าจะรู้ชัดก็เดือนมีนาคม 2564 ดังนั้นจะต้องรอผลอีก 10-11 เดือนหากอัตราติดเชื้อหรือเจ็บป่วยอยู่ในระดับปัจจุบันก็ถือว่าโชคดี

นอกจากนั้น ยังมีภาระความคุ้มครอง เฉพาะความคุ้มครองพ.ร.บ.รถยนต์ซึ่งประชาชนจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มความคุ้มครองตรงนี้ กรณีเสียชีวิตหรือพิการจะเป็นภาระเพิ่มประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท เพราะบริษัทประกันไม่ได้ปรับเบี้ยเพิ่ม และภาคสมัครใจอาจจะขยับเบี้ยได้บ้าง (เดิมจ่าย 3 แสนบาท เพิ่มเป็น 5 แสนบาท หรือหากบริษัทขายความคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทก็ต้องจ่ายเคลมในวงเงิน 1 ล้านบาท)

สำหรับอานิสงส์จากอัตราเคลมรถยนต์ลดลงช่วง Work From Home(WFH) บริษัทประกันได้รับอานิสงส์ประมาณ 20 วัน ช่วงเคอร์ฟิวคือ อัตราการเคลม 100 เคลม จะเป็นที่มีคู่กรณี (เคลมนอก) ประมาณ 1 ใน 3หรือประมาณ 33% และไม่มีคู่กรณีอีกราว 2 ใน 3 หรือ 67% ซึ่งในส่วนนี้อัตราการเคลมไม่ได้ปรับลดลง เพราะเดือนมีนาคมเป็นช่วงไฮซีซันของการเคลมที่ไม่มีคู่กรณี ส่วนหนึ่งโรงเรียนปิดเทอม เจ้าของรถจะแจ้งซ่อมรถกันมาก ส่วนเคลมที่มีคู่กรณีจะหายไปประมาณ 10% ในเดือนที่ผ่านมา (10% ของเดือนๆ ละ 8% ที่หายไปก็ไม่ได้มากทั้งปีอาจจะหายไปเพียง 1%) ซึ่งเป็นเฉพาะช่วงสั้นๆ

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะผ่อนปรนนโยบายล็อกดาวน์นั้น หากมองในมุมภาคธุรกิจต้องสนับสนุนอยู่แล้ว แต่รัฐบาลต้องมีความชัดเจน เกี่ยวกับมาตรการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ อย่างครอบคลุม ส่วนบริษัทประกันจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับความมั่นใจลูกค้าหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้คุยกัน แต่การพัฒนาโปรดักต์นั้นบริษัทประกันจะดูความเสี่ยง และอะไรเป็นสิ่งที่ประชาชนกลัว ซึ่งขณะนี้ประชาชนยังสามารถใช้ประกันภัยแบบเดิมที่ซื้อไปแล้ว 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563