บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ได้มีมติจากการประชุมสามัญประจำปี 2563 อนุมัติการเข้าซื้อกิจการของ เอ็มเอฟไอเอล (Myanmar Finance International Limited – MFIL) ผู้ให้บริการสินเชื่อในเมียนมา ในราคาไม่เกิน 21,000 ล้านจ๊าด หรือไม่เกิน 450 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายกิจการแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะมีสาขาเพิ่มในเมียนมาทันที 13 สาขา พร้อมฐานลูกค้าประมาณ 70,000 ราย
นางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เผยว่า จากการประชุมสามัญประจำปี 2563 ได้มีมติอนุมัติการเข้าซื้อกิจการของ เอ็มเอฟไอเอล (Myanmar Finance International Limited) หรือ MFIL ผู้ให้บริการสินเชื่อในเมียนมา โดย บริษัท มิงกะละบา ฐิติกร ไมโครไฟแนนซ์ จำกัด บริษัทในเครือ TK ซึ่งได้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการธุรกิจไมโครไฟแนนซ์เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา และได้ทำสัญญาเข้าซื้อหุ้น MFIL ในสัดส่วน 100%
คาดว่าดีลดังกล่าวและกระบวนการซื้อกิจการจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ และจะทำให้ TK มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 7% และทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของสินเชื่อทั้งหมดจากปัจจุบันที่ 17%
"เรามองเห็นโอกาสการเติบโตที่น่าสนใจและผลประกอบการของธุรกิจสินเชื่อรายย่อยไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมา และเรามองว่า MFIL จะสามารถเป็นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและช่วยเสริมเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของ TK ในภูมิภาคแถบนี้ ด้วยช่องทางการให้บริการที่อยู่ในเมืองสำคัญ ๆ ของเมียนมา"
นางสาวปฐมา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมยังได้มีมติอนุมัติจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 0.55 บาท/หุ้น รวมเป็นเงิน 275 ล้านบาท หรือ Dividend Yield ณ วันปิดสมุดทะเบียน 12 มีนาคม 2563 ที่ 6.8% คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ของกำไรสุทธิในปีที่ผ่านมา
ด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ไม่มีผลกระทบกับผลการดำเนินงานของ TK และไม่กระทบต่อการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น เนื่องจากเงินที่ใช้ในการลงทุนจะใช้แหล่งเงินจากกระแสเงินสดและกำไรจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอรองรับการทำธุรกรรมดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน
"การบริหารจัดการธุรกิจที่เมียนมายังคงใช้ทีมบริหารยังเป็นชุดเดิมของ MFIL โดยที่ทาง TK จะเข้าไปนั่งในตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ในระยะแรกเท่านั้น "
สำหรับจุดแข็งของ MFIL กลุ่มลูกค้าทั้งหมดเป็นรายย่อย ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับของ TK ซึ่งจะช่วยเสริมกันและกัน โดยใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีอยู่ในการขยายการลงทุน และจะเป็นฐานธุรกิจสำคัญ โดยเฉพาะตลาดเมียนมาที่ต้องอาศัยการเจาะตลาดท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากไทยอยู่พอสมควร
"ตลาดเมียนมาถือว่าเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาค และ MFIL มีสาขาทั้งหมด 13 สาขา มีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 70,000 ราย ในรัฐสำคัญ ๆ ที่รัฐบาลเมียนมาเข้มงวดในการออกใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการดังกล่าว และ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นขอขยายสาขาเพิ่มในรัฐอื่น ๆ อีก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต สอดคล้องกับการเจริญเติบโตที่จะเกิดขึ้น "
ปัจจุบันเมียนมามีประชากรกว่า 53 ล้านคน ใกล้เคียงกับประเทศไทย ขณะที่อัตราการเข้าถึงบริการของสถาบันการเงินนั้นถือว่ายังน้อยอยู่ที่ 20-30% เทียบกับประเทศไทยอยู่ที่เกือบ 100% ทำให้ตลาดเมียนมาอยู่ในช่วงการเติบโต ซึ่งธุรกิจสถาบันการเงินของเมียนมายังมีโอกาสให้ขยายจำนวนฐานลูกค้าได้อีกมาก ขณะที่ตลาดไทยมีการแข่งขันสูง และแม้ว่า MFIL ตอนนี้กำไรจะยังไม่มาก แต่อนาคตมีศักยภาพในการขยายธุรกิจสูงมาก