"หุ้นกู้การบินไทย" ไม่สะเทือน!ชุมนุมสหกรณ์

18 มิ.ย. 2563 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2563 | 12:48 น.

ชสอ.แจงสหกรณ์สมาชิก ลงทุนในหุ้นกู้การบินไทยเพียง 1.25% ของสินทรัพย์รวม เผยเดินหน้าระดมเงินฝาก 3 รูปแบบ ตั้งเป้า 1.5 หมื่นล้านบาท เตรียมสภาพคล่องสหกรณ์สมาชิก บิ๊กชสอ. เตรียมเสนอที่ประชุมสามัญประจำปี 63 อนุมัติเงินเพิ่ม 4-6 พันล้านบาท จัดสรรให้ 6 บลจ.บริหาร หลังผลงานเข้าตา 

คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ. การบินไทย อยู่ระหว่างร่างแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จ เพื่อนำไปใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องของศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ แต่การยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของการบินไทย ทำให้สถานะการเรียกชำระหนี้ของเจ้าหนี้ต่างๆต้องหยุดลงโดยอัตโนมัติ(Automatic stay) ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน รวมถึงเจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทย โดยเฉพาะ 82 สหกรณ์ ที่ลงทุนในหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ของการบินไทยกว่า 43,000 ล้านบาท ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย(ชสอ.) ซึ่งมีสหกรณ์สมาชิกรวม 1,101 แห่ง

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในการการลงทุนในหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย ของสมาชิกชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย(ชสอ.)นั้น มีเงินลงทุนอยู่ในระดับตํ่า เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,919.45 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนตั้งแต่ปี 2554 คิดเป็น 1.25% ของสินทรัพย์รวมสินทรัพย์รวมที่มีกว่า 153,799.93ล้านบาท ขณะที่ชสอ.มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงตามแนวทาง Basel ถึง 24.00% โดยระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2563 ชสอ.เปิดรับเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ ซึ่งกำหนดเลือกตั้งกรรมการในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2563 ในวันที่ 30 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ 

\"หุ้นกู้การบินไทย\" ไม่สะเทือน!ชุมนุมสหกรณ์

นายสมนึก บุญใหญ่ผู้จัดการใหญ่ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” หลังการประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ว่า ที่ประชุมซึ่งมีอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นประธาน ได้หารือเกี่ยวกับแนวทางที่จะสื่อสารกับ 82 สหกรณ์สมาชิกที่ลงทุนในตราสารหนี้ของบมจ.การบินไทย เพื่อที่จะสื่อความเข้าใจให้ตรงกัน โดยคาดว่า จะนัดประชุมกับสมาชิกภายในก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 

สำหรับหุ้นกู้ที่สหกรณ์สมาชิกชสอ.ลงทุนไปนั้น จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้เพียง 50 ล้านบาท ปี 2564 อีก 235 ล้านบาทและ 260 ในปี 2565 และระหว่างปี 2566-2570 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนด 610 ล้านบาท และสุดท้ายช่วง 2571-2575 จะครบกำหนด 756 ล้านบาท 

“การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบมจ.การบินไทยนั้น ชสอ.อยู่ระหว่างรวบรวมตัวแทนจากกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อเป็นทีมงานในการประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ในอนาคต”

ส่วนการบริหารจัดการนั้น ปัจจุบันชสอ.อยู่ระหว่างเปิดรับเงินฝากประจำ หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน “รุ่นรวมใจออม” ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน-31 สิงหาคม 2563 ประกอบด้วย 3 รูปแบบประกอบด้วย เริ่มจากวงเงินฝากขั้นตํ่า 1 ล้านบาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ย 2.7% เงินฝาก 10 ล้านบาทจ่ายดอกเบี้ย 2.8% และวงเงินฝาก 50 ล้านบาทจ่ายดอกเบี้ย 2.9% เงินฝาก 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึงวันที่ 31สิงหาคม 2563 โดยตั้งเป้าระดมเงินฝาก 5,000 ล้านบาทและยังเปิดจำหน่ายตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 2 ประเภท 

“ช่วง 3เดือนหลังจากนี้ ตั้งเป้าระดมเงินฝากเฉพาะกิจ 5,000 ล้านบาทต่อประเภท ซึ่งเป็นการเตรียมระดมเงินฝากสำรองไว้ เพื่อให้สหกรณ์สมาชิกที่ต้องการสภาพคล่อง โดยการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมนั้นชสอ.กำหนดเงื่อนไขในการปล่อยกู้โดยดูวัตถุประสงค์และหลักทรัพย์คํ้าประกันเป็นการช่วยดูแลสภาพคล่องสมาชิก”

สำหรับความต้องการด้านเงินกู้นั้น ที่ผ่านมาได้ทยอยปล่อยกู้ไปแล้ว กรณีสมาชิกที่มีเงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงินคํ้าประกัน คณะกรรมการอนุมัติไปแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท เพราะบางส่วนเตรียมสภาพคล่องไว้ให้กับสมาชิก และอยู่ระหว่างพิจารณาอีกราว 6,000-7,000 ล้านบาท ให้กับบางสหกรณ์ที่มีสภาพคล่องและนำเงินไปปล่อยกู้กับสหกรณ์อื่น หรือวัตถุประสงค์ เพื่อชำระคืนหนี้เก่า ซึ่งชสอ.พยายามจัดลำดับความต้องการเงินกู้ แต่ในหลักการได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเหลือประมาณ 3.2-3.25% ต่อปี 

ส่วนความคืบหน้าการบริหารเงินลงทุนที่ผ่านมา มีผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยมีวงเงินลงทุน 2,000 ล้านบาท  อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 3% หรือ 5% อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสามัญในวันที่ 30กรกฎาคม 2563 นอกจากวาระเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ครบวาระ 8 คน และพิจารณางบดุลประจำปี 2562 แล้ว ทางคณะกรรมการเตรียมเสนอที่ประชุม จัดสรรเงินลงทุนอีก 4,000-6,000 ล้านบาท เพิ่มวงเงินให้ 6 บริษัทบริหารจัดการ (บลจ.) ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี. บลจ.กสิกรไทย. บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.แลนด์แอนด์เฮ้า บลจ.ยูโอบี(ประเทศไทย) และบลจ.กรุงไทย โดยอาจจะจัดสรรวงเงินบริหารตามผลงานที่ผ่านมาส่วนแนวโน้มของการจัดสรรวงเงินลงทุนเพิ่มก็ต้องรอที่ประชุมพิจารณา 

สำหรับผลดำเนินงานสิ้นเดือนมีนาคม 2563 ชสอ.มีเงินรับฝาก จำนวย 110,240 ล้านบาท คิดเป็น 71.69% ของหนี้สินและทุนของชสอ. ด้านเงินให้กู้ยืม จำนวน 88,788 ล้านบาท คิดเป็น 57.74% ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น ส่วนเงินลงทุนมูลค่ายุติธรรม 47,641 ล้านบาทคิดเป็น 32.30% ของสินทรัพย์ทั้งสิ้น มีกำไรสุทธิ 1,966 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่มีจำนวน 1,713 ล้านบาท ปัจจุบันสมาชิกจำนวน 1,101สหกรณ์ 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563