ทีดีอาร์ไอชี้ โควิด-19 พ่นพิษ อัตราว่างงานพุ่ง 8-12 เท่าสูงสุดในรอบ 20 ปี เหตุเศรษฐกิจหดตัวแรง และชะลอต่อเนื่อง 2-3 ปีข้าง เตรีบมทบทวนตัวเลขเพิ่ม หลังธปท.ปรับคาดการณ์จีดีพี เหลือติดลบ 8.1% จากเดิมติดลบ 5.3% ด้านกสิกรไทยชี้ อัตราว่างงานค้างไม่ตํ่ากว่า1 ล้านคน
ตัวเลขประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ทั้งปี มีแนวโน้มจะติดลบถึง 8.1% จากที่คาดการณ์เดิมจะติดลบ 5.3% เหตุเพราะตัวเลขจากทีมเศรษฐกิจรัฐบาลได้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะติดลบถึง 15.5% ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะติดลบน้อยลงเหลือ 10.2% ในไตรมาส 3 และเหลือติดลบ 5.5% ในไตรมาสสุดท้ายของปี
ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีติดลบ 8.1% ตอกยํ้าคำทำนายของธนาคารโลกที่ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะช็อค ครั้งใหญ่รวดเร็วและรุนแรงนำไปสู่การพังทลายของเศรษฐกิจโลกในรอบ 150 ปี โดยประเมินเศรษฐกิจโลกจะติดลบ 5.2% ในปีนี้และมีโอกาสจะติดลบ 8% หากการเเพร่ระบาดยังคงยืดเยื้อ ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด โดยเฉพาะโควิด-19 จะทำให้คน 70-100 ล้านคน ตกอยู่ในสภาพยากจนขีดสุด
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทีดีอาร์ไอได้ทำการศึกษาการว่างงานในประเทศไทยเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY)พบว่า อัตราการว่างงานสูงกว่าปีก่อนเกิดเหตุการณ์วิกฤติโควิด-19 ถึง 8-12 เท่าของการว่างงานตามปกติ และโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยตกตํ่าและอัตราการการว่างงานสูงที่สุดในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ ภายใต้สมมุติฐานที่คาดว่า จีดีพีปี 2563 จะหดตัวถึง 5.3% โดยจะหดตัวถึง 11% ในไตรมาส 2 และหดตัวเฉลี่ย 4.23% ในไตรมาส 3 และ 4 จะทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 20.98% ในไตรมาส 2 และการว่างงานจะเพิ่มขึ้น 10.35% ในไตรมาส 3 และ 4 ต่อเนื่องกัน ซึ่งหมาย ความว่า จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38.19 ล้านคนในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะมีผู้ว่างงานถึง 8.01 ล้านคนในไตรมาส 2 และอาจจะลดลงเหลือ 3.53 ล้านคนในไตรมาส 3 และ 4 หรือมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยในปี 2563 ประมาณ 4.6 ล้านคนหรือ 12% ของกำลังแรงงาน
“ล่าสุดธปท.คาดการณ์จีดีพีจะลงลึกถึง 8.1% จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าไปทำเพิ่มเติมว่า จะกระทบต่ออัตราการว่างงานแค่ไหน ซึ่งต้องรอดูการตอบสนองของธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะผลจากมาตรการควบคุม
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คน 3 ล้านคนที่มีงานประจำ แต่ไม่ได้ทำเป็นกลุ่มที่รับเงินเยียวยา จากการพักหรือรองานจากกิจการที่ลดชั่วโมงทำงาน หรือปิดกิจการชั่วคราว จะกลับมาหรือไม่ หรือว่า จะเพิ่มขึ้น เพราะหากมองภาพรวมเศรษฐกิจ ขณะนี้น่าจะเป็นการฟื้นตัวในรูปตัวแอล คือจะชะลอต่อต่อเนื่อง 2-3 ปี”
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า ปีนี้ทุกคนรับรู้แล้วว่า เศรษฐกิจแย่มากกว่าที่คาดไว้ระดับหนึ่งแต่ปีหน้าธปท.ประมาณการจีดีพีขยับเป็นบวกที่ 5% ซึ่งมีความท้าทายและยังไม่รู้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะหลายประเทศมาตรการควบคุมหย่อนยานมาก เช่น สหรัฐฯ เริ่มเห็นคนติดเชื้อกลับมาเกิน 3หมื่นคน จึงยากจะคาดการณ์ปีหน้าจีดีพีจะดีขึ้น รวมทั้งในยุโรป
สำหรับไทยหลังผ่านคลายล็อคดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วน แต่ภาคบริการยังไม่เต็ม 100% เพราะต้องพึ่งการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่กลับมาและดำเนินธุรกิจตํ่ากว่าปกติ ส่วนการจ้างงาน แม้จะดีขึ้นกว่าเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ยังมีอัตราว่างงานค้างอยู่ไม่น่าจะตํ่ากว่า 1 ล้านคน ส่วนแนวโน้มการว่างงานจะเพิ่มหรือไม่ ต้องขึ้นกับการแพร่ระบาดรอบ 2 หรือนักท่องเที่ยวจะกลับมาหรือไม่ด้วย
นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า วิจัยกรุงศรีอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขจีดีพีใหม่ จากเดิมที่คาดติดลบ 5% บนสมมติฐานล็อกดาวน์ 2 เดือน แต่ได้ขยายเวลานานขึ้น ทำให้การทยอยเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจช้า
ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงานนั้น อัตราว่างงานจะเพิ่ม 3-4% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 1% ซึ่งค่อนข้างสูงมาก จึงต้องดูรายได้ที่จะปรับลดลงมาก หากย้อนเทียบกับต้มยำกุ้ง ภาคเกษตรและการบริโภคภายในประเทศยังดี แต่วันนี้ตรงกันข้าม ความยืดหยุ่นในการรองรับทำไม่ได้ ซึ่งเรายังห่วงภาคการท่องเที่ยว เพราะก่อนหน้าเราสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนแต่หากเขาไม่กลับมาก็มีความเสี่ยงสูง”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษกิจ ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563