ออมสิน ดึงแสนล้าน ปล่อยซอฟต์โลน

19 ก.ค. 2563 | 23:45 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2563 | 06:49 น.

 ออมสินเตรียมแสนล้านซอฟต์โลนเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการที่เข้าไม่ถึงเงินกู้ 5 แสนล้านและเตรียมอีก 2 หมื่นล้าน ผ่อนปรนเงื่อนไขช่วยอาชีพอิสระ-งานประจำ

หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน เร่งดำเนินการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายในวงเงิน 135,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2.00% และให้ธนาคาร ออมสิน ให้สินเชื่อโดยตรง ในวงเงินอีก 15,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.00% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ถึง 31 ธันวาคม 2563 

 อย่างไรก็ตาม หลังมีการเรียกร้องจากผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ต้องการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วย จึงได้ลดวงเงินที่จะปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์เหลือเพียง 55,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 80,000 ล้านบาทปล่อยกู้ให้กับนอนแบงก์  โดยล่าสุดจากวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาทนั้นธนาคาร ออมสินได้ปล่อยกู้ไปแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และกำลังพิจารณาที่จะเพิ่มวงเงินกู้ซอฟต์โลนอีก 3-5 หมื่นล้านบาท ภายใต้ดอกเบี้ย 0.01% ให้กับธนาคารพาณิชย์โดยตรง     

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซอฟต์โลน “ออมสิน” แสนล้านถึงมือเอสเอ็มอี ครบภายในมิ.ย.

8 แอร์ไลน์วอนรัฐอย่ายื้อซอฟต์โลน

คลังลั่น พร้อมช่วยเหลือภาคขนส่ง จากผลกระทบโควิด-19

ธปท.ยิบกลางสภา 2พรก.ซอฟต์โลน-BSFมีวัตถุประสงค์ชัด

 

 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคาร ออมสินเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธนาคารได้เสนอเรื่องไปที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่จะออกสินเชื่อซอฟต์โลนอีก 3-5 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยครั้งนี้จะเป็นการปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ ดอกเบี้ย 0.01% เพื่อไปปล่อยกู้ต่อให้กับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการขนาดเล็ก ดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง โรงแรม

โฮมสเตย์ บริษัททัวร์ ร้านนวดสปา ร้านอาหาร รถเช่า ขายของที่ระลึก พร้อมกับให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาห กรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อ 

 ทั้งนี้เพราะการปล่อยกู้ซอฟต์โลนเดิม 1.5 แสนล้านบาทนั้น เป็นการออกแบบมาเพื่อเป็นการกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีเครดิตดี  โอกาสที่จะเป็นหนี้เสียต่ำ จึงสามารถให้ในอัตราดอกเบี้ยที่ 0.01% ได้ที่รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 2% ซึ่งเท่ากับต้นทุนของธนาคารที่ 2% โดยที่ยังไม่ได้นับต้นทุนการกันสำรองหนี้ทั่วไปอีก 1% ดังนั้นต้นทุนเฉลี่ยของธนาคารจะอยู่ที่ 3%  ที่สำคัญรัฐบาลไม่ได้ชดเชยผลขาดทุนด้านเครดิต หรือ credit cost  

 “รูปแบบของซอฟต์โลนแรกๆ เป็นการกำหนดมาเพื่อกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐ แต่หลังจากนั้นมีการเพิ่มเงื่อนไขรวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวและนอนแบงก์ ซึ่งเหล่านนี้มีเครดิตที่ต่างกัน ต้นทุนย่อมต่างกันไปด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเองต้องรับความเสี่ยง หากเกิดเป็นหนี้เสียกลับมา จึงต้องระมัดระวังและทำให้การปล่อยกู้ล่าช้า โดยล่าสุด ได้อนุมัติวงเงินรวม 1.2 แสนล้านบาท โดยในส่วนที่ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ 55,000 ล้านบาทนั้นหมดในเวลารวดเร็ว” 

 ดังนั้น รูปแบบซอฟต์โลนที่จะปล่อยใหม่นั้น จึงจะเป็นการปรับรูปแบบคือ จะปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารรัฐเท่านั้น และจะทำเฉพาะเรื่องท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ปัญหาที่ขาดสภาพคล่อง ทั้งโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่อง ที่เข้าไม่ถึงซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งหากรัฐบาลต้องการเพิ่มวงเงินให้เป็น 1 แสนล้านบาท ก็พร้อมที่จะดำเนินการในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติ”

 นอกจากนั้น ธนาคารยังจะมีสินเชื่อสำหรับช่วยกลุ่มอาชีพอิสระและพนักงานประจำ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีก 20,000 ล้านบาท โดยปรับเงื่อนไขให้ประชาชนได้ง่ายขึ้น วงเงินสูงขึ้น เช่น ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ และคนค้ำประกัน และขยายวงเงินจากรายละ 10,000-50,000 บาท เพิ่มเป็น 30,000-50,000 บาท

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3593 วันที่ 22-25 กรกฎาคม 2563