ธปท.ปลื้มพร้อมเพย์พุ่งแตะ 157 ล้านครั้ง

27 ก.ค. 2563 | 20:08 น.

ธปท.ปลื้ม ประชาชนเข้าถึงบริการชำระเงิน พร้อมเพย์พุ่งแตะ 157 ล้านครั้ง ต่อยอดบริการ ISO 20022 เสิร์ฟภาคธุรกิจและเชื่อมต่างประเทศ เผยโควิดฉุดแผนเชื่อม QR Paymeny ภูมิภาคอาเซียน คาดเดินหน้าสิงคโปร์ปีหน้า จ่อหารือแบงก์ ดึงข้อมูลชำระเงินทำนโยบายตรงจุด

ความคืบหน้าแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินฉบับ 4(2562-2564) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนา 5ด้าน ซึ่งอยู่ระหว่างต่อยอด ด้านโครงสร้างพื้นฐานกับนวัตกรรมต่างๆ ทั้งพร้อมเพย์ แพลตฟอร์มเนชั่นแนลดิจิทัลไอดี หรือ NDID และ ISO20022 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่จะช่วยเชื่อมต่อธุรกิจในหลายรูปแบบ รวมทั้งเชื่อมต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด 4 เดือน (นับจากสิ้นปี2562-เดือนพฤษภาคม2563) ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านเลขหมาย ทำให้มียอดลงทะเบียนรวม 55 ล้านเลขหมาย เฉลี่ยธุรกรรมต่อคนต่อวันอยู่ที่ 157 ครั้ง ปริมาณเฉลี่ยต่อวัน 13.5 ล้านรายการหรือมูลค่าเฉลี่ยต่อวันแตะ 5.08 หมื่นล้านบาท 

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชาระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แม้ช่วงการระบาดของโควิด ซึ่งทุกคนอยู่ในภาวะลำบาก แต่ยอดการลงทะเบียนพร้อมเพย์มีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาบริการและนวัตกรรมหลายหลาย ตั้งแต่โอนเงินระหว่างประชาชน การชำระเงินข้ามธนาคาร การชำระเงินข้ามประเทศ และภาครัฐใช้บริการพร้อมเพย์จ่ายเงินสวัสดิการ 

ขณะที่กรมสรรพากรใช้คืนเงินภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และกำลังพัฒนาบริการ ISO20022 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการชำระเงิน เพื่อบริการภาคธุรกิจ โดย MyPrompt QR จะเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่ใช้มาตรฐาน ISO20022 ซึ่งระยะต่อไป จะทำให้การโอนเงินจำนวนมาก (Bulk Payment) สามารถชำระเงินได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น 

ธปท.ปลื้มพร้อมเพย์พุ่งแตะ 157 ล้านครั้ง

“ช่วงเกิด COVID มีการวาง QR Code มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ประกอบกับประเทศหยุดการเดินทางหยุดข้ามจังหวัด ทำให้ประชาชนเห็นประโยชน์ ปัจจุบันยอดลงทะเบียนสะสมรวม 55 ล้านเลขหมาย ,จุดรับ QR Code กว่า 6 ล้านจุดและ ปริมาณการใช้เฉลี่ยกระโดดเป็น 157 ครั้งต่อคนต่อปี ปริมาณรายการต่อวันเฉลี่ยเกือบ 14 ล้านรายการช่วงพีคสุดสิ้นเดือนพฤษภาคม 17 ล้านรายการต่อวันจากปีก่อนอยู่ที่ 7-8 ล้านรายการเท่านั้น ซึ่งเหล่านี้สะท้อนความทั่วถึงของการขยายการใช้ดิจิทัลเพย์เม้นต์และความรู้ความเข้าใจในทุกภาคส่วน” 

ขณะเดียวกัน จะเห็นภาคธนาคารทยอยปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถลดปัญหาระบบล่ม ซึ่งเป็นความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ระบบล่มหรือสะดุด ทางธนาคารจะแลกเปลี่ยนและร่วมกันคิดและร่วมกันแก้ไข โดยมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องรวมกับ ITMX ด้วย 

ด้านการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง เพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานมีศักยภาพในการรองรับปริมาณการใช้งาน โดยสร้างภูมิคุ้มกัน ความแข็งแกร่งกับระบบการชำระเงินทั้ง 4 ด้านคือ ป้องกันภัยไซเบอร์ ,การตรวจจับหรือการมอนิเตอร์ การตอบสนองและการกู้ความเสียหาย เพราะยิ่งมีการใช้ดิจิทัลมาก ยิ่งต้องคอยติดตามใกล้ชิด

ส่วนแพลตฟอร์ม NDID นั้น นอกจากให้บริการชำระเงินแล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อรองรับธุรกรรมด้านอื่นด้วย จึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญมาก ซึ่งก่อนจะให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ประกอบการต้องทยอยเข้ามาทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนใน Regulatory Sandbox ซึ่งที่ผ่านมา การทดสอบของกลุ่มธนาคาร 7 แห่งมีความราบรื่น โดยภายในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีบริษัทหลักทรัพย์ บริษัท FINNES ซึ่งอยู่ในโครงการจะพัฒนาดิจิทัลของตลาดทุนจะเข้ามาร่วมทดสอบและตามด้วยภาคประกัน

สำหรับเรื่องการใช้ QR Cross border ที่จะเน้นความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเชื่อมต่อระบบ Switch to Switch ในลักษณะการใช้ QR Payment แต่ละประเทศก่อน ซึ่งอยู่ระหว่างคุยกับมาเลเชีย ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา น่าจะมีความคืบหน้าไล่เรี่ยกัน ส่วนแผนเชื่อมระบบกลางระหว่างไทยกับสิงคโปร์ผ่านระบบ PayNow กับ Prompt Pay ได้เลื่อนไปเป็นไตรมาสแรกปีหน้า  

นอกจากนั้น ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับภาคธนาคาร เพื่อวางแนวในการรวบรวมข้อมูลการชำระเงิน โดยเบื้องต้น จะรวมรวบข้อมูลตามลักษณะของพื้นที่หรือทำเล (Location) รูปแบบการชำระเงิน,วัตถุประสงค์ โดยรวบรวมเป็นรายการ รายโปรดักต์ รายธุรกิจ เพราะนำไปต่อยอดบริการหรือทำนโยบาย

“ในอดีตเราต้องใช้เวลาสำรวจข้อมูล ปีหนึ่งอาจทำได้ครั้งเดียว ถ้าเรามีข้อมูลการชำระเงินจากแบงก์ ต่อไปจะสามารถดึงข้อมูลมาใช้ได้เลย อาจไม่ได้ใช้เฉพาะข้อมูลด้านการเงินเพียงอย่างเดียว แต่อาจใช้ข้อมูลพฤติกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่มีความนิยม แต่อย่างน้อยที่สุดช่วงแรก จะทำให้ทราบเรื่องวินัยทางการเงินหรือการเข้าถึงบริการของประชาชน”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,595 วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563