ต่างชาติถือหุ้นไทย ตํ่าสุดในประวัติศาสตร์

01 ก.ย. 2563 | 11:55 น.

นักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นไทยต่อเนื่อง 6 ปี ทิ้ง 6.7 แสนล้านบาท สัด ส่วนถือครองเหลือ 26% โบรกชี้หุ้นไทยไม่เกาะเทรนด์กลุ่มเทคโนโลยี แนะจับตาพรก.ฉุกเฉิน พัฒนาการการเมือง

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน และสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง กดดันให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงสุดในรอบ 3 สัปดาห์แตะระดับ 31.4 บาทต่อดอลลาร์ ประกอบกับเป็นช่วงปรับฐานของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยยังอยู่ในแดนลบ  

 

ทั้งนี้เม็ดเงินลงทุนใน ตลาดหุ้นไทย จาก นักลงทุนต่างชาติ ถือเป็นส่วนสำคัญไม่น้อย แม้ในปัจจุบันการลงทุนจะชะลอลงบ้าง จากสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 แต่ยังมีความหวังว่าบรรยากาศจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น หากวิกฤติิครั้งนี้คลี่คลาย อาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยอีกครั้ง แม้ตอนนี้จะยังขายสุทธิอยู่ก็ตาม โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในหุ้นไทย 675,430.42 ล้านบาท 

 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 26% ถือว่าตํ่าสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขายอย่างต่อเนื่อง มาจากหุ้นไทยไม่ได้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการลงทุน

 

สะท้อนได้จากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในต่างประเทศที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่โครงสร้างหุ้นไทยไม่เข้ากับ กระแส และส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มพลังงานมากกว่า อีกทั้งประเมินมูลค่าปัจจุบันยังราคาแพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค และการใช้พรก.ฉุกเฉินต่อเนื่อง ทำ ให้เป็นข้อจำกัดการลงทุนของบางกองทุนด้วย

ต่างชาติถือหุ้นไทย ตํ่าสุดในประวัติศาสตร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวั่น “ปรีดี” ลาออก การเมืองทุบซ้ำศก. - เชื่อมั่นนักลงทุน

บล.ทิสโก้ ชี้กลุ่มพลังงานถ่วงหุ้นไทยขึ้นน้อยกว่าตลาดโลก จับตาการเมืองกดดันซ้ำ

"ออมสิน" ขยายเวลาพักชำระหนี้อัตโนมัติต่ออีก 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้อาจจะมีการกลับเข้ามาซื้อคืนบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนยังรอความชัดเจนของการใช้พรก.ฉุกเฉินว่า จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ รวมถึงพัฒนาการการเมืองที่ยังมีความวุ่นวาย ทั้งนี้ มองว่าการกลับเข้ามาลงทุนในหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติปีหน้าจะฟื้นตัวได้จากการกลับมาดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยและทั่วโลก เพราะได้ผ่านจุดตํ่าสุดแล้วในปีนี้

 

นอกจากนี้ ยังมีความคาดหวังการพัฒนาวัคซีนรักษาไวรัสโควิด-19 เนื่องจากไทยค่อนข้างอ่อนไหวกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว

 

ด้านบล.เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า นักลงทุนให้ความสำคัญเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์การเมือง ที่จะมีต่อภาวะเศรษฐกิจอาจไม่สามารถดำเนินได้เต็มที่ จะทำให้การฟื้นตัวเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งส่งผลลบต่อดัชนีตลาดหุ้น, กระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติ, ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ และค่าเงินบาท โดยการชุมนุมในปัจจุบันถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และกดดันการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นไทย 

อย่างไรก็ตาม ดัชนีหุ้นไทยตอบสนองเชิงลบปรับตัวลดลงเฉลี่ย 3.87% ในช่วง 1 เดือนหลังชุมนุม และเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่าภาพรวมตลาด หุ้นทั่วโลกทุกครั้ง ประกอบด้วย ปี 2551 ลดลง 12.2%, ปี 2553 เพิ่มขึ้น 4.2% และ ปี 2556 ลดลง 4.2% ขณะที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเฉลี่ย 20,800 ล้านบาท ในช่วง 1 เดือนหลังชุมนุม โดย 1 เดือนหลังชุมนุมปี 2551 ขายสุทธิ 42,000 ล้านบาท, ปี 2553 ซื้อสุทธิ 29,000 ล้านเหรียญ และปี 2556 ขายสุทธิ 50,000 ล้านบาท 

 

“ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติด ตามใกล้ชิด คือ สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงขึ้น โดยการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษามีการกระจายตัวออกในวงกว้าง ขณะที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ดูเป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบสนอง นอกจากนี้ในสภาเองก็มีประเด็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงเริ่มเห็นกระแสสนับสนุนให้ยุบสภาฯ เลือกตั้งใหม่"

 

สภาพแวดล้อมทางการเมืองดังกล่าวต้องติดตามว่าจะมีผลกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ความไม่แน่ นอนทางการเมืองเป็นตัวกดดันต่างชาติชะลอการตัดสินใจลงทุน รวมถึงหากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้มีการเร่งตัวสูงขึ้น จะกดดันให้เงินจากต่างชาติยิ่งชะลอการไหลเข้า 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,603 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563