สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ระบุ ความผันผวนในตลาดเงิน ส่งผลนักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้น เพื่อความปลอดภัย ส่งผลครึ่งปี 63 เงินฝาก เพิ่ม 1.1 ล้านราย วงเงินคุ้มครอง 14.67 ล้านล้านบาท แนะกระจายเงินฝากแต่ละประเภทหาผลตอบแทน และความปลอดภัยในการบริหารเงินอย่างยั่งยืน
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. เปิดเผยว่า ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 (ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน)พบว่า มีจำนวน ผู้ฝากเงิน ในระบบสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองของ สคฝ.รวม 88.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นราว 1.1 ล้านรายหรือ 1.38% และมีจำนวน เงินฝาก ที่ได้รับความคุ้มครองรวม 14.67 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น 8.12% เมื่อเทียบกับ สิ้นปี 2562 โดยกว่า 98% เป็น ผู้ฝากเงิน รายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ ปริมาณเงินฝากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบทุกกลุ่มผู้ฝาก โดยปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มผู้ฝากบุคคลธรรมดาและผู้ฝากภาคธุรกิจองค์กรภาครัฐและกองทุนต่างๆอีกทั้งยังมีการขยายตัวในทุกระดับวงเงินฝากซึ่งเกือบครึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในระดับเงินฝากวงเงินสูงกว่า 25 ล้านบาท
“ปริมาณเงินฝาก ที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงนั้น เป็นผลจากความผันผวนในตลาดเงิน ทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนมาเข้าเงินฝากมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น ในตลาดเงินที่ผลตอบแทนลดลงและยังมีแนวโน้มการออมเพื่อสำรองการใช้จ่ายในอนาคตด้วย”
ทั้งนี้เห็นได้จากผลตอบแทนตามประเภทสินทรัพย์ ย้อนหลัง 10 ปี(ระหว่าง2553-2562) ประเภทออมทรัพย์อยู่ที่ 0.72% เงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.88% พันธบัตรอายุ 3 ปี อยู่ที่ 2.41% ทองคำอยู่ที่ 2.31% กองทุน Jumbo25(หุ้น) อยู่ที่ 10.01% ดังนั้นแม้การฝากเงินจะยังเป็นช่องทางที่มั่นคงและมีความปลอดภัยสูง แต่ผู้ฝากยังสามารถพิจารณาจัดสรรสินทรัพย์ตามความเหมาะสมและตามความต้องการของตนเอง โดยต้องพิจารณาและศึกษาการจัดสรรสินทรัพย์อย่างละเอียด เพื่อความปลอดภัยในการบริหารเงินอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม แม้ สคฝ.มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเงินฝาก แต่จากผลศึกษาที่ผ่านมาพบว่า สคฝ.เป็นที่รู้จัก 40%สำหรับประชาชนคนไทย ดังนั้นปีนี้จะให้น้ำหนักกับการสร้างการรับรู้สู่ประชาชนในวงกว้างยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์บริการ ให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก 1158 และช่องทางออนไลน์ โดยเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองจากสคฝ.อยู่ที่ 5 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุม ผู้ฝาก 80.5 1 ล้านราย หรือ 99.6 3% ของผู้ฝากเงินทั้งระบบ
สคฝ.คุ้มครองเงินฝากทันทีในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ใน 5 ประเภทบัญชีเงินฝาก ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝากและใบรับเงินฝาก ส่วนผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง เช่น เงินฝากที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ , เงินลงทุนในตราสารประเภทต่างๆ เช่น พันธบัตรหุ้นกู้หน่วยลงทุน(SSF,RMF) หรือเงินฝากสหกรณ์ ,แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน และเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E Money
" สคฝ.ดำเนินงานมาปีที่ 12 โดยยังไม่มีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ถูกเพิกถอนใบอนุญาต และปัจจุบันสถาบันการเงินทั้งระบบยังมีความแข็งแกร่ง แต่สคฝ.ต้องเตรียมพร้อม เพื่อให้ผู้ฝากเงินสบายใจ โดยไม่ต้องกังวลต่อเงินฝาก กรณีเกิดกระแสข่าวเกี่ยวกับสถาบันการเงิน เพราะสคฝ.มีความพร้อมที่จะคืนเงินฝากภายใน 30 วัน ตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด หากมีเงินฝากเกินกว่าวงเงินที่ได้รับความคุ้มครองก็จะได้รับเงินคืน เมื่อดำเนินการชำระบัญชีแล้วเฉลี่ย5ปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสถาบันการเงิน"
นายทรงพลกล่าวย้ำว่า ปีนี้มีความท้าทายค่อนข้างมาก หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่จบ ทำให้ทุกหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือในอนาคต ซึ่งภาคสถาบันการเงินได้ร่วมกับภาครัฐในการปรับมาตรฐานต่างๆเพื่อจะช่วยกันให้ผ่านสถานการณ์รอบนี้ได้