นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยว่า วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2563) บริษัท S&P Global Ratings (S&P)ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือ ของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีความเข้มแข็งภาคการคลังและภาคการเงินต่างประเทศอยู่ในระดับสูง ขณะที่หนี้รัฐบาลอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล และสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวใน 1-2 ปีข้างหน้า
ขณะที่ภาคการคลังสาธารณะ(Public Finance) มีความแข็งแกร่ง เป็นผลจากการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง แม้การดำเนินนโยบายการคลังผ่านมาตรการต่างๆของภาครัฐเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะทำให้การขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563-2564 และหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระทบต่อสถานภาพทางการคลัง
นอกจากนั้น S&P เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวและเติบโตในระยะปานกลางได้ โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นที่ 6.2% จากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ และรัฐบาลยังสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศเช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(Eastern Economic Corridor) และโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และยังส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน (Public Private Partnership) เพื่อลดความเสี่ยงทางการคลังของรัฐบาลให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ
ส่วนภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง สภาพคล่องและทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง โดย S&P คาดว่าสภาพคล่องต่างประเทศ (External liquidity) ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับคงที่และไม่น่ากังวล นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายทางการเงินและการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
“ประเด็นที่ S&P ให้ความสนใจและจะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะปานกลาง”นางแพตริเซียกล่าว