KEY
POINTS
ร้อนแรงขึ้นมาอีกรอบ เมื่อกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมได้รวบรวมรายชื่อนักวิชาการ 227 คนลงนามออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.) โดยกลุ่มการเมือง ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)สรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นี้
หลังจากมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เพราะจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณา ท่ามกลางกระแสการต่อต้านจากหลายฝ่ายไม่ให้ฝ่ายการเมืองส่งคนมาแทรกแซงธปท.
ทั้งนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธปท.คนใหม่ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 และกรรมการอีกสองคนแทนนายมนัส แจ่มเวหาและนายนนทิกร กาญจนะจิตรา ที่หมดวาระลงเช่นกัน
ตามกฎหมายกระทรวงการคลังสามารถเสนอรายชื่อได้ 1 เท่าของกรรมการที่หมดวาระลงและธปท.มีสิทธิ์เสนอรายชื่อมา 2 เท่าของกรรมการที่หมดวาระลง
กระทรวงการคลังได้เสนอรายชื่อให้บอร์ดสรรหา 3 รายชื่อคือ
ประธานกรรมการ
กรรมการอีก 2 คน
ขณะที่ธปท.เสนอรายชื่อบุคคลที่จะเป็นประธานกรรมการคือ 2 คนคือ
ส่วนกรรมการคือนายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศและอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นายกิตติรัตน์ถูกมองว่า เป็นตัวเต็งที่จะได้เป็นประธานบอร์ด เนื่องจากมีความใก้ชิดกับพรรคเพื่อไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ขณะที่ในสมัยรัฐบาลเศรษฐาได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ ธปท.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังพรรคเพื่อไทย จึงได้รับหนังสือยืนยันว่า นายกิตติรัตน์ได้ลาออกจากตำแหน่งใดๆ ในพรรคตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2566
แม้นายกิตติรัตน์จะพ้นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี ที่ไม่ขัดคุณสมบัติตามที่กฎหมายเขียนไว้
แต่ภาพที่นายกิตติรัตน์เคยกล่าวต่อสื่อมวลชนในปี 2555ว่า ในฐานะรัฐมนตรีคลังให้ข้อมูล ตัวเลขที่ต่อสื่อมวลชนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือเรียกว่าเป็น “โกหกสีขาว” ได้จนมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยจนนำไปสู่ประเด็นหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
ปี 2560 นายกิตติรัตน์เเคยขึ้นศาลเบิกความคดีจำนำข้าว โดยเป็นพยานชี้แจงถึงเหตุผลในการจัดทำโครงการดังกล่าว จากนั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิด
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกิตติรัตน์กับพวก ยังถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยละเว้นไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้าคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัดให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้ BULOG ประเทศอินโดนีเซีย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกฟ้องนายกิตติรัตน์ แต่ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งให้อัยการสูงสุด(อสส.)อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษากรณียกฟ้องนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง
ภาพดังกล่าวทำให้นักวิชาการ 227 คนลงนามคัดค้านการจะดึงคนของการเมืองมานั่งเป็นประธานบอร์ดธปท. ซึ่งปรากฎว่า ในจำนวน 227 รายชื่อนั้นมี อดีตผู้ว่าการ ธปท.ถึง 4 คนคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายวิรไท สันติประภพ นายประสาน ไตรรัตนวรกุล และนางธาริษา วัฒนเกส ร่วมด้วย
ทั้งนี้กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆเห็นว่า การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามหลักสากลธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ อันนำไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนในระยะยาว
นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทชิดใกล้ทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,041 วันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567