KBANK ให้กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.50-34.30 บาท

02 พ.ย. 2567 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2567 | 04:20 น.

KBANK ให้กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 33.50-34.30 บาท หลังบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดห์ จับตาเลือกตั้งปธน.สหรัฐ ผลประชุมเฟด และเงินเฟ้อไทย

เงินบาทปิดตลาดในประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ 1 พ.ย.2567 ที่ 33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 ต.ค. 67)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK)ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯยังมีแรงหนุนต่อเนื่องในช่วงโค้งสุดท้ายนับถอยหลังสู่วันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นำโดยเงินเยนซึ่งเผชิญแรงขายท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในญี่ปุ่น สวนทางกับเงินดอลลาร์ฯที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกแข็งค่าในช่วงกลางสัปดาห์โดยได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ของราคาทองคำในตลาดโลก เงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์โดยทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 7 สัปดาห์ที่ 33.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงขายทำกำไรทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ฯยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางมุมมองของตลาดที่ประเมินความ เป็นไปได้ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์อาจชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ (The Trump Trade)

ขณะที่สถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-1 พ.ย. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 9,644 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 4,892 ล้านบาท (แบ่งเป็น ขายสุทธิพันธบัตร 4,890 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท) 

ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า ( 4-8 พ.ย.) มองที่ระดับ 33.50-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่

  • ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (5 พ.ย.)
  • ผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (6-7 พ.ย.)
  • ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย
  • ทิศทางเงินทุนต่างชาติ
  • สกุลเงินเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะค่าเงินหยวน

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่

  • ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ย.
  • ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนต.ค.
  • จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ย.

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุม BOE (7 พ.ย.) รวมถึงดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น และยูโรโซนด้วยเช่นกัน