BBL เผย “เพอมาตา” หนุนสินเชื่อต่างประเทศโตกว่า 25%

02 พ.ย. 2567 | 05:32 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2567 | 05:32 น.

แบงก์กรุงเทพเผย สินเชื่อทั้งปีโต 3% จากแรงหนุนของ“เพอมาตา อินโดนีเซีย” ดันสินเชื่อต่างประเทศโต 25% ชี้โอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีก 5ปีข้างหน้า อาเซียนทุกประเทศต้องลงทุนใหม่อีกรอบ ทั้งเทคโนโลยี สินเชื่อสีเขียวปรับปรุงเครื่องจักร

ธนาคารกรุงเทพรายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2567 พบว่า มีเงินให้สินเชื่อ 2,638,697 ล้านบาท ลดลง 1.2%จากสิ้นปีก่อน และมีเงินรับฝาก 3,109,982 ล้านบาท ลดลง 2.3%จากสิ้นปีก่อน ส่งผลอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.8%

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ เลขานุการบริษัทและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า คาดว่าสินเชื่อปีนี้ทั้งปีน่าจะขยายตัว 3% บนสมมติฐานเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ปีนี้มีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 3% เพราะมีน้ำท่วมช่วงปลายปี แต่ในไตรมาส4 การส่งออกน่าจะไปได้

BBL เผย “เพอมาตา” หนุนสินเชื่อต่างประเทศโตกว่า 25%

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวใกล้ช่วงโควิดที่ประมาณ 4 ล้านคนต่อเดือน ถือว่าเป็นสัญญาณดี ทั้งปี จำนวนนักท่องเที่ยวบวกลบประมาณ 36 ล้านคน

 หลังจากนั้นภาครัฐกระตุ้นเต็มที่ เนื่องจากฐานต่ำปีที่แล้วและมีเงินลงทุนโดยตรง (FDI) กำลังเข้ามาในไทยอีกมาก ฉะนั้น เมื่อรวมกัน 4 เครื่องยนต์ทำงาน ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% ส่วนปีหน้าโอกาสจีดีพีขยายตัวบวกลบ 3%

อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลใจใน 3เรื่อง คือ

  1. การเลือกตั้งในสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายน ใครจะชนะการเลือกตั้งและจะเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นเช่น ภาษี สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี และสงครามตะวันออกกลาง ยูเครน และไต้หวัน 
  2. เศรษฐกิจจีนยังไม่พ้นพงหนาม เห็นได้จากข้อมูลการนำเข้าเติบโตแค่ 0.3% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ไม่มีกำลังซื้อ
  3. หนี้ครัวเรือนในไทย ซึ่งกำลังคุกคามยากที่จะเจริญเติบโต โดยอาศัยการก่อหนี้และแม้จะมีการกระตุ้นก็นำไปชำระหนี้

ในส่วนของธนาคารกรุงเทพถือว่า มาถูกทางที่เลือกดำเนินธุรกิจในต่างประเทศจนมีฐานลูกค้าที่อยู่กับธนาคารกว่า 70 ปี หลังก่อตั้งธนาคารมา 80ปี ทำให้ได้รับประโยชน์จากการลงทุนโดยตรง (FDI) ที่กำลังจะเข้ามาอีกพอสมควร และเดินหน้าในหลายเรื่องเพื่อให้ธนาคารสามารถเข้าสู่โลกยุคใหม่ได้ 

“โอกาสของธนาคารกรุงเทพมีอีกมาก มองไปข้างหน้าขณะนี้เทรนด์ต่างๆกำลังมาที่ธนาคาร เนื่องจากธุรกิจกำลังปรับตัว ไม่ว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือโรงงานต้องลงทุนปรับเทคโนโลยี"
 

ซึ่งเป็นธีมใหญ่ที่สำคัญ โดยเฉพาะโอกาสเติบโตจะมาจากสินเชื่อในต่างประเทศและสินเชื่อเทคโนโลยีที่น่าจะเติบโตได้ดี เพราะแนวโน้มทั้งบริษัทขนาดใหญ่ โรงงานจำเป็นต้องลงทุนใหม่อีกรอบ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี 4.0, 5.0 สินเชื่อเพื่อปรับปรุงเครื่องจักร สินเชื่อสีเขียว โรงงานไฟฟ้า-โซลาร์ รวมถึงสินเชื่อคาร์บอน์ต่ำ

โดยเฉพาะสินเชื่อต่างประเทศ ซึ่งมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะภายใน 5ปี อาเซียนทุกประเทศจะเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเมื่อโรงงานสร้างเสร็จความสามารถทางเทคโนโลยี่ ความสามารถในการมีรายได้และเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไป รวมถึงโอกาสบริษัทของไทยจะออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ

นายกอบศักดิ์กล่าวถึงเป้าหมายสินเชื่อปีหน้าว่า อยู่ระหว่างจัดทำแผน เบื้องต้นคาดว่า ถ้าจีดีพีเติบโต 3%(บวก/ลบ)คาดว่า สินเชื่อน่าจะอยู่ที่ 3-4% โดยจะประกาศตัวเลขเป้าหมายทั้งปีได้ปลายปีนี้ ซึ่งสินเชื่อในไทยอาจจะโตไม่มาก เพราะการลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ซึ่งสินเชื่อเติบโตประมาณ 2เท่าของจีดีพี โดยมาจากสินเชื่อเพื่อการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซีย เวียดนามและประเทศอื่นที่ทำธุรกิจด้วย ขณะนี้เห็นการเติบโตอย่างน่าสนใจ เช่น อินโดนีเซีย ลูกค้าขอสินเชื่อเพื่อขยายโรงงาน (โรงงานน้ำตาล) ขยายนิคมอุตสาหกรรม หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ และในปีหน้า จีดีพีอินโดนีเซียจะเติบโตกว่า 6% ซึ่งโอกาสสินเชื่อจะเติบโตกว่า 10% เป็นการเติบโตจากการลงทุน 

การเติบโตดังกล่าว น่าจะทำให้สินเชื่อต่างประเทศขยายตัวได้ดีอยู่ที่ประมาณกว่า 25% ซึ่งในสัดส่วนนี้มาจากเพอมาตา อินโดนีเซีย 50%ของฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งแนวโน้มสินเชื่อต่างประเทศจะมีสัดส่วนดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ล่าสุดไตรมาส3 ที่ผ่านมา สินเชื่อโดยรวมลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 

 “ปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อต่างประเทศปล่อยได้ 25% เฉพาะธนาคารเพอมาตา สินเชื่อโตเกือบ 10% ขณะที่ในไทยสินเชื่อโตราว 3% คือในประเทศบางเซ็กเตอร์ลำบาก เช่น SMEs, สินเชื่อส่วนบุคคลไม่ค่อยโต ส่วนหนึ่งเพราะหนี้ครัวเรือนทำให้แบงก์ไม่กล้าปล่อย แต่ที่เราโตคือสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งมีลูกค้าจำนวนมากอยากจะไปลงทุนในที่ต่างๆ ทั้งลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศจึงไม่กังวล เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกเติบโต ก็จะมีลมใต้ปีก(tall win)"

ส่วนความสามารถในการรักษาอัตราการจ่ายเงินปันได้ในระดับสูงหรือไม่นั้น นายกอบศักดิ์ระบุว่า ขอให้มั่นใจว่า แบงก์กรุงเทพมีนโยบาย ถ้าเพิ่มแล้วเพิ่มเลย เพราะฉะนั้นปีที่แล้วจ่ายปันผล 7บาทต่อหุ้น ปีนี้อย่างน้อย 7บาทและกำไรน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว

ส่วนจะเพิ่มหรือไม่เพิ่มเงินปันผลนั้น ต้องไปรอบอร์ดตัดสินใจในเดือนเมษายน ซึ่งปกติการจ่ายปันผลจะมีกฎเกณฑ์อยู่แล้ว 30-40%ของกำไรสุทธิ 

“หนี้เราไม่ค่อยมีปัญหามาก เพราะสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบ้านไม่ค่อยโต หากไปดูกำไรของตลาดหลักทรัพย์ ครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 10% สะท้อนว่า บริษัทใหญ่มีฐานะ ดังนั้นการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญช่วงที่เหลือ ต้องดูว่าปีนี้จะจ่ายปันผลเท่าไร ต้องเตรียมสำหรับจ่ายปันผลให้เพียงพอก่อน”นายกอบศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,040 วันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. พ.ศ. 2567