นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่าย ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 รัฐวิสาหกิจที่ สคร. กำกับดูแล 44 แห่ง สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2563 ได้จำนวน 215,205 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของแผนเบิกจ่ายสะสม ประกอบด้วยการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจระบบปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – เดือนกันยายน 2563) จำนวน 34 แห่ง มีผลเบิกจ่ายจริงจำนวน 100,783 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจระบบปีปฏิทิน (ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนธันวาคม 2563) จำนวน 11 แห่ง มีผลเบิกจ่ายจริงจำนวน 114,422 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งปี 2563 จะประมาณ 256,257 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของกรอบลงทุนทั้งปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 2562 ที่เบิกจ่ายได้ร้อยละ 78 ของกรอบลงทุนทั้งปี และหากไม่รวม โครงการที่มีการเบิกจ่ายล่าช้าอย่างต่อเนื่อง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล สายสีแดง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 - 2560) และโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกตะวันตก จะมีผลเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งปีร้อยละ 96 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เบิกจ่ายงบลงทุนมากกว่าร้อยละ 95
นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้เป็นไปตามแผน อาทิ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคง โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง และแผนระยะยาวธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
สำหรับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2564 ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณมีผลการเบิกจ่ายสะสม 2 เดือน (พฤศจิกายน 2563) ได้จำนวน 52,267 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของแผนการเบิกจ่ายลงทุน โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สามารถเบิกจ่ายได้ดีกว่าเป้าหมาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรี ของ รฟม. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผลการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2564 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2563
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 กระทรวงการคลังได้จัดประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยการเบิกจ่ายในภาพรวมของภาครัฐในปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจถือเป็นส่วนสำคัญของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ สคร. จึงขอความร่วมมือให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งกำกับติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ให้รัฐวิสาหกิจวางแผนการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นแบบ Front-loaded โดยให้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2564 เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นกลไกช่วยในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องในปี 2564