โควิด-19 รอบใหม่ เขย่า เศรษฐกิจไทย ไปไม่ถึงฝัน

01 ม.ค. 2564 | 06:58 น.

ภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อจากการปลดล็อกดาวน์ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ทำให้สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งต่างปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2563 ใหม่ โดยหดตัวน้อยลง เหลือการติดลบประมาณ 6-7% เท่านั้น

 

จากเดิมที่มองว่า ผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการควบคุมการระบาดของโรค จะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวลงลึกถึง 10% หลังการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3  ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่พบว่า เศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2563 หดตัว 6.4% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2563 ที่หดตัว 12.1% และเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2563 เพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวราว 6.7%

“ตัวเลขที่ออกมาถือว่า ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ขณะที่เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณดีขึ้นมาก โดยเฉพาะการบริโภคภาครัฐ และสาขาการก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว 10.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สาขาการเงินปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัว 1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนเครื่องชี้วัดตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรวม และการบริโภคภาคเอกชน ก็หดตัวน้อยลง” นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าว

ตัวเลขต่างๆ ที่ดีขึ้น สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ทำให้สศช.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ เป็นหดตัวน้อยลงเหลือ 6% จากเดิมคาดว่าจะหดตัวประมาณ​ 7.5% สอดคล้องกับธปท.ที่มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบเพียง 6.6% 0ากประมาณการเดิมที่จะติดลบ 7.8% รวมถึงสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เองก็มองว่า เศรษฐกิจปีนี้จะติดลบเพียง 7.7% จากเดิมท่ี่เคยมองว่าจะติดลบถึง 8.5%

ดังนั้นตัวเลขที่ออกมาจึงสะท้อนว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยกระทบหนักที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2563 ไปแล้ว จากที่ติดลบถึง 12.1% จากนั้น เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น เพราะผลกระทบต่อเศรษฐกิจครั้งนี้ถือว่า แรง และลึก จึงไม่สามารถที่จะกลับมาเหมือนเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในระยะเวลาสั้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองมองว่้า จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีจนกว่าภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัว 

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับเป็นว่า เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 และมีผลกระทบโดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ขนส่ง เดินทาง และค้าปลีก อย่างร้านขายของที่ระลึก จึงมีสัดส่วนการจ้างงานเกือบ 20% ของการจ้างงานรวม ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 12% ของจีดีพี 

ล่าสุดธปท.จึงปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือเพียง 3.2% จากประมาณการเดิมที่ 3.6% โดยเหตุผลหลักมาจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยคาดว่าปี 2564 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 5.5 ล้านคน ซึ่งลดลงจากประมาณการเดิมที่ 9 ล้านคน จากปี 2562 ที่มีเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 39.9 ล้านคนและสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 3 ล้านล้านบาท

หลังเกิดการระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ซึ่งมีศูนย์กลางในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนจะดาวกระจายไปกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ แม้ขณะนี้รัฐบาลจะยังไม่ตัดสินใจล็อกดาวน์ประเทศเหมือนช่วงกลางปี โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ใช้วิธีการควบคุมโรคด้วยการแบ่งพื้นที่แต่ละจังหวัดออกเป็น 4 พื้นที่ตามระดับความเสี่ยง โดยเริ่มตั้งแต่ พื้นที่สีแดง จะเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ซึ่งมีจังหวัดเดียวคือ สมุทรสาคร รองลงมา เป็นพื้นที่สีส้มคือ พื้นที่ที่ติดกับสีแดง พื้นที่สีเหลือง คือ มีผู้ติดเชื้อไม่เกิน 10 คนและพื้นที่สีเขียวคือ ไม่พบผู้ติดเชื้อ โดยเป็นการให้อำนาจกับ ศบค.ระดับจังหวัดเป็นคนตัดสินใจแทน

โควิด-19 รอบใหม่  เขย่า เศรษฐกิจไทย ไปไม่ถึงฝัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า  หากเหตุการณ์ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครและกระจายไปยังพื้นที่หลายจังหวัดของไทย ไม่ลุกลามจนนำไปสู่การล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ประเมินว่า ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอาจได้รับความสูญเสียมูลค่าราว 45,000 ล้านบาท ในกรอบเวลา 1 เดือน โดยจำแนกเป็นความสูญเสียที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล ที่อาจมีมูลค่ารวมกันราว 13,000 ล้านบาท จาก

ความสูญเสียจากการที่ประชาชนชะลอการทำกิจกรรมในช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท และความสูญเสียจากการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 17,000 ล้านบาท หรือ 30% ของรายได้ท่องเที่ยวในช่วงเวลา 1 เดือน ภายใต้ยังไม่ได้มีประกาศห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด สอดคล้องกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทยที่ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศปัจจุบันที่มีมูลค่าราว 15.5 ล้านล้านบาท จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ราว 1,500-2,000 ล้านบาทต่อวัน หรือ 45,000-60,000 ล้านบาทต่อเดือน 

แต่หลังเกิดศูนย์กลางการระบาดเพิ่มเติมจากบ่อนพนันในจังหวัดระยอง ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรอบใหม่มีจำนวนเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและทำให้เกิดความกังวลว่า มาตรการภาครัฐจะรุนแรงตามมาด้วยหรือไม่ เพราะผลกระทบที่ประเมิน เป็นการมองต่อเดือน ดังนั้นหากยิ่งยืดเยื้อ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจปี 2564 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการ สศค.ระบุว่า สศค.จะมีการทบทบทวนประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ใหม่ในเดือนมกราคมปีหน้า เพราะต้องรอประเมินผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ก่อน แต่เบื้องต้นเชื่อว่าจะดีกว่าปี 2563 โดยประมาณการเดิมมองว่า จะขยายตัวที่ 4.5% จากปี 2563 ที่จะติดลบที่ 7.7%  เพราะเห็นสัญญาณการกระเตื้องขึ้น ทั้งจากการส่งออกที่ดีขึ้นจากประเทศคู่ค้าทั้งจีน สหรัฐ และเวียดนาม แต่ภาคท่องเที่ยวยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ต้องรอการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งล่าสุดธปท.เองก็ปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 เหลือเพียง 5.5 ล้านคน แต่สศค.คาดว่าจะอยู่ที่ 5-8 ล้านคน ซึ่งมากกว่าธปท. แต่ยังไม่เท่ากับที่เคยเข้ามาเกือบ 40 ล้านคน ขณะที่การท่องเที่ยวในประเทศยังถูกจำกัดจากการระบาดรองใหม่อีกด้วย 

“ที่ยังเหลือก็น่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ทั้งเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง การเติมเงินบัตรสวัสดิการรัฐ ที่จะทำให้มีเม็ดเงินลงไปในไตรมาส 1 ปี 2564 และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกันในปีงบประมาณปี 2564 ยังมีเม็ดเงินจากการขาดดุลงบประมาณที่จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจประคองตัวได้ เพราะแม้ว่าจะมีวัคซีนในปีหน้า แต่ก็ยังมีปัญหารการเข้าถึงแค่ไหน รวมถึงนโยบายการค้าการลงทุนของประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐฯว่าจะกระทบไทยแค่ไหน และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนของไทยด้วย” นางสาวกุลยา กล่าว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564