สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ระบุ 2ปัจจัย “ส่งออก-ใช้จ่ายภาครัฐ” หนุน จีดีพีไทย ปี64โต 2-3%พร้อมประเมินเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนโควิดในปี2566
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงาน “2021 FACING CHANGE OR MORE CHALLENGES” ซึ่งจัดโดย Kbank PRIVATE BANKING ธนาคารกสิกรไทย ภายใต้หัวข้อ “เจาะลึกทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย” โดยระบุว่า ปี 2564เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะฟื้นตัวดีขึ้น
ทั้งนี้คาดว่า อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย(จีดีพี)มีโอกาสจะขยายตัวที่ประมาณ 2-3% จากปี 2563ที่คาดว่าจะมีอัตราติดลบ 7-8% สาเหตุหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมา ซึ่งมีผลต่อรายได้และการบริโภคภายในประเทศ แต่แนวโน้มในระยะ 2-3ปีข้างหน้าหรือประมาณปี 2566คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด
สำหรับประมาณการจีดีพีที่ 2-3%นั้น มาจากภาคการส่งออก ซึ่งจะเป็นความคาดหวังโดยเฉพาะการเติบโตในตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น โดยจะมีผลต่อความต้องการซื้อสินค้าและบริการจากไทย โดยคาดว่าการส่งออกจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-6% จากปีก่อนที่ติดลบ 6% และภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะเห็นว่าการท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มกลับมา แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในต่างประเทศยังคงเป็นศูนย์ แต่คาดว่าปลายปีนี้น่าจะเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาได้
ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เห็นได้จากรัฐบาลใช้เงินงบประมาณไปเพียง 30% จากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จึงมีเงินงบประมาณรอเบิกจ่ายอีกจำนวนมาก สำหรับการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่นที่ผ่านมาโครงการ “ไทยชนะ” และ “คนละครึ่ง” ดังนั้นเชื่อว่าภาครัฐยังมีศักยภาพในการใช้จ่ายได้อีก
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังคงต้องใช้เวลา เนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการลดลง ทำให้ความต้องการขยายการลงทุนลดลง ประกอบกับกำลังผลิตส่วนเกินที่ยังคงเหลือจำนวนมาก แต่หากดูตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า บีโอไอมีการอนุมัติโครงการลงทุนจำนวนมากเมื่อเทียบกับปี 2562 สะท้อนภาพการลงทุนที่จะเกิดขึ้นอีกใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีการย้ายฐานผลิตและการลงทุนออกมาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ หรือ ยานยนต์ ซึ่งจีนได้รับบีโอไอในเวียดนามเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นเมืองไทย
“ปีนี้เรายังมองเศรษฐกิจไทยยังคงเหนื่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ร้านอาหาร ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งเซ็กเตอร์เหล่านี้มีโอกาสจะถูกกระทบต่อการจ้างงาน ซึ่งตัวเลขในเดือนตุลาคม 2563 ชั่วโมงการทำงานลดลง และคาดว่าจะลดลงอีกจากผลกระทบการระบาดของโควิดรอบสอง เหล่านี้จะส่งผลต่อกำลังซื้อ แต่ที่ขยายตัวได้ เช่น ภาคการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ เกษตร และอี-คอมเมิร์ซ”