นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม 2564 โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยคณะกรรมการ PPP เห็นชอบในหลักการโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร ในรูปแบบ PPP Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี (นับจากวันที่ กทพ. แจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน) ซึ่งหลังนี้จะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2566
สำหรับ โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินวงเงิน 5,792 ล้านบาท ในขณะที่เอกชนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียด การก่อสร้าง และการดำเนินการและบำรุงรักษา โดยเอกชนจะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มดำเนินงาน (BTO) ซึ่งโครงการนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน แก้ปัญหาจราจร และเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการเดินทางระหว่างเมืองภูเก็ตและหาดป่าตอง
นอกจากนี้คณะกรรมการ PPP ยังรับทราบความคืบหน้าและเร่งรัดโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในกลุ่ม High Priority PPP Project ตามแผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 - 2570 ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้ เพื่อสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดการลงทุนจากเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินกู้
“รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เร่งดำเนินโครงการ PPP ให้เป็นไปตามกรอบเวลา หรือเร็วกว่ากรอบเวลาที่วางไว้ เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และย้ำเรื่องโครงการที่ลงนามตอน พ.ร.บ.ปี 56 ใน 3 โครงการรถไฟฟ้า คือ สายสีน้ำเงิน สายสีเหลือ และสายสีชมพู่ ซึ่งในส่วนของสายสีน้ำเงินได้เปิดให้บริการไปแล้วในปี 2563 ส่วนสายสีเหลือง และสีชมพู ขณะนี้ในการก่อสร้างงานโยธาและระบบ พบว่า สายสีชมพูเร็วกว่าแผนประมาณ 3% และสีเหลืองเร็วกว่าแผนประมาณ 10% ซึ่งรองนายกได้ย้ำกว่าส่วนไหนที่สำเร็จอาจเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ ไม่ต้องรอเปิดให้บริการพร้อมกันทั้งระบบทีเดียวในปี 2565” ผอ.สคร กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้รับทราบแนวทางการกำหนดรายละเอียดในการวิเคราะห์ถึงหลักการและเหตุผลประกอบการพิจารณาความสำคัญของโครงการร่วมลงทุน ตามหลักเกณฑ์ในเรื่องการพิจารณาความสำคัญของโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 - 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการในกลุ่มดังกล่าวภายใต้ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 มีกรอบการพิจารณาที่ชัดเจน และช่วยให้การดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะมีความคล่องตัว และเป็นไปตามแผนที่กำหนด