จากนโยบาย “เร่งแก้ปัญหาหนี้ประชาชน” ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งตั้งเป้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศภายใน 6 เดือน
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เชิญสถาบันการเงินแต่ละแห่ง เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อแต่ละประเภทสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นการหารือเบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุป ส่วนใหญ่เป็นการรับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการสมาคมต่าง เช่น หากจะลดเพดานดอกเบี้ย ผู้ประกอบการจะช่วยทำอะไรให้ได้บ้าง
สำหรับสินเชื่อทะเบียนรถนั้น วงเงินสินเชื่อจะแตกต่างตามขนาดและประเภท อัตราดอกเบี้ยจึงต่างกันด้วย ขณะที่เพดานดอกเบี้ยแม้จะกำหนดไว้ 24%ต่อปี แต่ปกติไม่มีใครคิดเต็มเพดานอยู่แล้วเพราะ การแข่งขันทำให้ดอกเบี้ยลดตามกลไกของตลาดเฉลี่ย 18%ต่อปี
นอกจากนั้น หากพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์หรือ ROA เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% สูงสุดไม่เกิน 7% ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 3% โดยบวกรายได้จากการขายประกันด้วย แต่กรณีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่ดินควบคู่กันด้วย ROA สูงสุดจะอยู่ที่ 9% ดังนั้น ROA จำนำทะเบียนไม่ได้สูงมากนัก
อีกประเด็น หากกดเพดานดอกเบี้ยลงมาก นอกจากประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินยากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการซึ่งมีหลายขนาด ต้นทุนต่างกัน เช่น ต้นทุนในการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 4-5%, ต้นทุนบุคลากรและสถานที่ทำการประมาณ 8-10% และต้นทุนบริหารจัดการหนี้เสียหรือเอ็นพีแอล(Credit Cost) 4-5% ขึ้นกับแต่ละบริษัท โดยต้นทุนรวมทั้ง 3ด้านเกือบ 15% หากจะปรับลดลงมาอีกผู้ประกอบการค่อนข้างลำบากเช่นกัน
กรณีมีข้อสังเกตว่า ดอกเบี้ยไม่ควรจะเกินอัตรา15%นั้น สินเชื่อรายย่อย วงเงินกู้ต่อรายไม่สูง แต่การบริหารจัดการสูงกว่าธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เท่ากัน เพราะบางรายปล่อยกู้วงเงินตั้งแต่ 5,000-2 แสนบาทหรือบางแห่งอาจจะสูงกว่านี้
“ตัวแทนธปท.ต้องมีคำตอบรัฐบาลและสังคมว่าจะดำเนินการอย่างไรได้ โดยภายในสัปดาห์นี้ผู้ประกอบการต้องสรุปรายละเอียดเกี่ยวกับ ต้นทุน, อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเท่าไร เพื่อธปท.ใช้ประกอบการพิจารณา ส่วนอัตราปรับลด 1-2% นั้นเรื่องนี้ ธปท.ยังไม่ได้คุยกัน และไม่มีตุ๊กตามาให้เราพิจารณาในเวทีของการพูดคุยเลย เช่นเดียวกันเรื่องกรอบเวลา แต่ผมคาดเดาเองว่า จะต้องเร็วที่สุดภายในเดือนกรกฎาคม เพราะท่านนายกสั่งการให้ทุกภาคส่วนช่วยกันหาทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือด ร้อนของประชาชน”แหล่งข่าวกล่าว
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า สินเชื่อรายย่อยภายใต้กำกับธปท. ประกอบด้วย บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) จำนำทะเบียน รวมกันมีสัดส่วน 3.5% ของพอร์ตสินเชื่อรวม หรือคิดเป็น 9.6%ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย มูลค่ารวม 4.8 แสนล้านบาทเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์
นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัดกล่าวว่า ประเด็นที่พูดกันคือ สินเชื่อนอกระบบที่เข้ามาทำลายสินเชื่อในระบบปัจจุบันที่คิดดอกเบี้ยที่ 4-24% โดยกลุ่มที่คิด 4% จะเป็นกลุ่มทั้สามารถเช็คประวัติจากเครดิตบูโรได้ ส่วน 24% จะเป็นพ่อค้าแม้ค้าที่ไม่มีประวัติทางการเงิน ซึ่งในตลาดแข่งขันกันสูง วงเงิน 5,000-10,000 บาท คิดดอกเบี่้ย 24% ก็จะเสียไม่มากนัก
ขณะที่ปัจจุบันจะลูกหนี้นอกระบบ ที่มีการกู้ยืมแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่นกู้ 7 วัน 10,000 บาท ถ้าวันที่ 8 ไม่จ่าย จะคิดค่าปรับ 12,000 บาท หลังจากนั้นคิดวันละ 500 บาทจึงมีการหารือสินเชื่อนอกระบบว่า ทั้งไฟแนนซ์ จะดึงสินเชื่อนอกระบบเข้ามา ในระบบได้อย่างไร จึงมีแนว คิดที่จะปลดล็อกใบอนุญาตการประกอบธุกิจฟิโกไฟแนนซ์ ให้สามารถทำธุรกิจได้หลายจังหวัดแทนที่ จะทำในจังหวัดเดียว
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564