อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.67 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.65 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในไทย
โดย เราประเมินว่า สถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มเข้าสู่จุดวิกฤติ หากการระบาดยังไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งต้องอาศัยการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อ โดยการใช้ชุดตรวจเร็วและการแจกจ่ายวัคซีนยังไม่สามารถเร่งตัวขึ้นได้มากกว่านี้ ซึ่งปัญหาการระบาดจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้
อย่างไรก็ดี ควรติดตามแนวโน้มการระบาดหลังรัฐบาลการประกาศใช้มาตรการ Lockdown รวมถึงการปรับแผนแจกจ่ายวัคซีนใหม่ เพราะว่า หากมาตรการควบคุม เริ่มสามารถลดยอดผู้ติดเชื้อได้อย่างต่อเนื่อง ตลาดการเงินก็พร้อมจะกลับมาอยู่ในบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงได้ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจเป็นจุดกลับตัวของเงินบาท จากเทรนด์อ่อนค่า มาเป็น เทรนด์แข็งค่าขึ้นได้
อนึ่ง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.75 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังว่า รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 จะออกมาแข็งแกร่ง โดยเฉพาะหุ้นในธีม Cyclical อย่าง กลุ่มการเงิน ซึ่งภาพดังกล่าว หนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.35% สอดคล้องกับมุมมองของตลาดที่คาดว่า ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 2 จะโตขึ้นกว่า +66%y/y ส่วนในฝั่งหุ้นเทคฯ โดยรวมก็ปรับตัวขึ้น หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นราว +0.21% หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.37%
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดยังไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มการระบาดของ COVID-19 ในยุโรปมากนัก เพราะแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ทว่า ยอดผู้เสียชีวิต รวมถึงยอดผู้ป่วยหนักนอนโรงพยาบาล ยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปมาก ทำให้ตลาดยังกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงต่อได้จากความหวังแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นในธีม Cyclical ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของตลาดหุ้นยุโรปจะออกมาแข็งแกร่งเช่นกัน ส่งผลให้ ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวกราว +0.62% นำโดย หุ้นในธีม Cyclical อย่าง Volkswagen +2.70%, Enel +1.74%, BMW +1.18% เป็นต้น
ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินอาจยังคงเผชิญความผันผวน และไม่ใช่หุ้นทุกกลุ่มที่จะปรับตัวได้ดีในช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เนื่องจาก ทั่วโลกยังคงเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่อาจกดดันให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจแย่ลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มกังวลว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าใกล้จุด Peak และเศรษฐกิจอาจเริ่มชะลอตัวลงได้ พร้อมกันนั้น โมเมนตัมการเติบโตเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงก็ยิ่งเพิ่มความกังวลต่อผู้เล่นในตลาด ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง อาจส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงได้ โดยเฉพาะหุ้นที่ผลประกอบการออกมาแย่กว่าคาด
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 2bps สู่ระดับ 1.37% หลังมีผู้เล่นบางส่วนขายทำกำไร (Take Profits on Bond rally) ท่ามกลางบรรยากาศตลาดการเงินที่พร้อมจะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบใกล้ระดับ 1.40% เนื่องจากตลาดการเงินยังถูกกดดันจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทว่า หากปัญหาดังกล่าวคลี่คลายลง และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จนเฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะทยอยปรับตัวขึ้นได้ โดยมองว่า ณ สิ้นปี 2021 อาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ใกล้ระดับ 1.70%-1.75%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส (Semi-annual testimony) ในสัปดาห์นี้ (เริ่มต้นในวันอังคาร) ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองเงินดอลลาร์ที่ชัดเจน ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 92.22 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่ทรงตัวนั้นได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น เข้าใกล้ระดับ 1,807 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตาม การแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Semi-Annual Testimony) โดยเรามองว่า ประธานเฟดจะแสดงความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทว่า ประธานเฟดจะเน้นย้ำว่า นโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายต่อ เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ปัญหาการระบาด COVID-19 ทั่วโลก ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ (CPI) ว่าจะมีทิศทางเร่งตัวขึ้นมากน้อยขนาดไหนและปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นจะเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือไม่ โดยตลาดคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน จะชะลอตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.8% สอดคล้องกับมุมมองของเฟดและผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ที่มองว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นเพียงชั่วคราว
นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลอดทั้งสัปดาห์ ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของบรรดาจดทะเบียน อาทิ JP Morgan, Goldman Sachs, Bank of America, Morgan Stanley, United Health เป็นต้น
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเช้านี้ (13 ก.ค.เวลา 9.44น,) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 32.64-32.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ดียังต้องติดตามแรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินบาทจากสถานการณ์โควิด 19 ในประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มอีกในช่วงหลายวันข้างหน้า
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.55-32.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด 19 ในประเทศ และข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ