ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการจีดีพีปี 64 เหลือ 1.0%

15 ก.ค. 2564 | 03:28 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 10:35 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 2564 จากเดิม 1.8% เหลือ 1.0% จ ผลการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้น จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมเข้มงวดขึ้น กระทบธรกิจ จ้างงาน ต่อเนื่องไปยังกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ทรุดกว่าเดิม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 ยังขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 ในประเทศที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง ทั้งจากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนที่อาจต่ำกว่าเป้าหมาย  

 

ปัจจัยเหล่านี้ อาจกดดันภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่ 1.8% ปีนี้ อาจขยายตัวได้ 1.0%

 

“หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง คาดว่า ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแรงส่งมากขึ้น โดยใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท"

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นกัน  และหากสถานการณ์ในประเทศยังไม่คลี่คลายลง คาดว่า ภาครัฐอาจจำเป็นต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบเพิ่มเติม

ประมาณการจีดีพีปี 2564

ขณะเดียวกัน การกลายพันธุ์ของไวรัสและจำนวนผู้ติดเชื้อที่กลับมาเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศไทย ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดกรอบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ลงจากเดิม 2.5 แสน- 1.2 ล้านคน มาอยู่ที่ 2.5-6.5 แสนคน แม้ว่าจะมีการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” และโครงการ “สมุย พลัส โมเดล”

 

ส่วนแผนการเปิดประเทศในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการเร่งฉีดวัคซีนเป็นหลัก ขณะที่ในต่างประเทศก็ยังเผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองการส่งออกไทยปี 2564 จะขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 11.5%  โดยประมาณการส่งออกนี้ ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม