ลูกหนี้รายย่อย เงื่อนไขพักหนี้ 2เดือนมาตรการเร่งด่วน

16 ก.ค. 2564 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2564 | 16:00 น.

ลูกหนี้รายย่อยทั่วประเทศ พักชำระหนี้ 2เดือนมาตรการเร่งด่วน ธปท.ย้ำรายย่อย-เอสเอ็มอีทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบปิดกิจการ-ไม่ปิดกิจการ พักชำระหนี้ แนะรายที่มีศักยภาพเดินหน้าปรับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย  และสมาคมธนาคารนานาชาติออกมาตรการเร่งด่วนด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลา 2 เดือนให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งในพื้นที่ควบคุมฯ และนอกพื้นที่ควบคุมฯ ที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไปนั้น

ลูกหนี้รายย่อย เงื่อนไขพักหนี้ 2เดือนมาตรการเร่งด่วน

นายรณดล   นุ่มนนท์  รองผู้ว่าการ  ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า  นอกจากมาตรการต่างๆ หรือการเยียวยาของรัฐบาลที่ออกมาแล้ว ในส่วนของ ธปท.  สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ  สถาบันการเงินเฉพาะกิจ(SFIs)และนอนแบงก์เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยเหลือเพิ่มเติมทางการเงินกับลูกหนี้ ไม่ว่าเป็นลูกจ้างและนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนรุนแรงให้ตรงจุดและทันการณ์ จึงออกมาตรการเร่งด่วนที่จะพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีเป็นระยะเวลา 2เดือน

“ลูกหนี้กลุ่มนี้ หมายถึงลูกจ้าง และนายจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมและนอกพื้นที่ควบคุม ซึ่งถูกปิดกิจการจากมาตรการดังกล่าว หรือถูกเลิกจ้างงาน ซึ่งลูกหนี้สามารถใช้ข้อมูลหลักฐานเพื่อพิสูจน์ผลกระทบโดย เริ่มติดต่อเจ้าหนี้ตั้งแต่วันที่ 19ก.ค.เป็นต้นไป  อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมอาจจะยังเปิดกิจการ แต่รายได้ลดลงตรงนี้ธปท.ให้สถาบันการเงินพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เป็นรายๆตามความจำเป็น”

สำหรับ ลูกหนี้ยังมีศักยภาพ รวมทั้งลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน  ธปท.แนะนำให้ชำระหนี้ต่อไป เพื่อมิให้เป็นภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้น เพราะมาตรการเร่งด่วนพักชำระหนี้นี้เป็นการเลื่อนเวลาการชำระหนี้ออกไป 2เดือนเมื่อครบกำหนดลูกหนี้จะต้องจ่ายเงินต้นและดอกบี้ยต่อโดยแบ่งจ่ายตามงวดที่สถาบันการเงินเรียกเก็บหรือเลื่อนไปจ่ายงวดสุดท้ายของสัญญาเพื่อลดภาระของลูกหนี้ด้วย

ส่วนความคืบหน้าตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้พิจารณาลดภาระหนี้ของประชาชานภายใน 6 เดือนนั้น  ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างศึกษาข้อดีและข้อเสียของการปรับลดเพดานดอกเบี้ย  ซึ่งต้องพิจารณาให้ครบวงจร  เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่เป็นการตอบโจทย์ในเรื่องของภาระหนี้ของประชาชน และอาจทำให้ลูกหนี้บางกลุ่มต้องออกนอกระบบ เพราะเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับประเด็นลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หากต้องปรับลดการนำส่งเงินช่วง 2 ปีจะต้องตอบโจทย์ได้ว่ามีการส่งผ่านถึงลูกค้าและประชาชน

 

ลูกหนี้รายย่อย เงื่อนไขพักหนี้ 2เดือนมาตรการเร่งด่วน

นางสาวสุวรรณี  เจษฎาศักดิ์   ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวย้ำว่า มาตรการพักชำระหนี้เป็นมาตรการเฉพาะหน้าเร่งด่วนไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ในพื้นที่ควบคุม 10จังหวัด และไม่อยู่ในพื้นที่ควบคุม  เนื่องจากสถานการณ์ระบาดยังรุนแรงและลูกหนี้ได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและโดยอ้อม ในลักษณะกระจายทุกประเภทสินเชื่อ ไม่ว่าเอสเอ็มอีหรือรายย่อย(สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเช่าซื้อหรือสินเชื่อส่วนบุคคล) โดยลูกหนี้ต้องลงทะเบียนแจ้งความจำนงค์ต่อสถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 19กรกฎาคม-15สิงหาคม 2564  ทั้งนี้ ธปท.ยังเน้นให้เดินหน้าปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาวต่อไป

“ การคิดเงินต้นและดอกเบี้ยช่วงพักชำระหนี้ 2เดือน เช่น ลูกหนี้แสดงความจำนงค์แล้วได้รับอนุมัติให้พักชำระหนี้2เดือนคือ งวดเดือนก.ค.และงวดเดือนส.ค.แล้ว  โดยทั้งเครดิตบูโรและสถาบันการเงินยังคงสถานะทางการเงินเป็นลูกหนี้ และไม่มีการคิดเบี้ยปรับแต่อย่างใด”  

ลูกหนี้รายย่อย เงื่อนไขพักหนี้ 2เดือนมาตรการเร่งด่วน