นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลช่วง 9 เดือนปีงบประมาณ64 ยังต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1.95 แสนล้านบาท ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 1 ไตรมาสเท่านั้น จึงยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐปีนี้อาจไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ที่ 2.67 ล้านล้านบาท โดยคาดว่ารายได้ที่หายไปอย่างต่ำประมาณ 2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้มีการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้ว ซึ่งภายใต้กรอบวงเงินกู้ ทั้งการกู้ขาดดุล และการกู้เงินชดเชยรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ภายใต้กรอบกฎหมายยังสามารถรองรับรายได้ส่วนที่ขาดหายไปได้ และยังสามารถรักษาระดับเงินคงคลังไว้ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งอย่างต่ำ จำนวน 4 แสนล้านบาทภายในปีงบประมาณนี้ ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่ากังวล
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - มิถุนายน 2564) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 1,738,161 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการณ์ตามเอกสารงบประมาณ 195,357 ล้านบาท หรือ 10.1% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 49,527 ล้านบาท หรือ 2.9% โดยการจัดเก็บรายได้รวมของ 3 กรมภาษี 9 เดือนปีงบประมาณ 2564 อยู่ที่ 1,811,701 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ 186,599 ล้านบาท หรือ 9.3% โดยการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากอัตรา 3% เหลือ 2% สำหรับเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ