นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)เปิดเผยว่า การคุ้มครองเงินฝากรายละไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายสถาบันการเงินนั้น เป็นวงเงินที่กฎหมายกำหนด ในการชำระคืนให้กับผู้ฝากเงิน ภายใน 30 วันหลังจากที่มีคำสั่งปิดกิจการสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม หากเงินฝากนั้น มีภาระดอกเบี้ยเกิดขึ้นและเกินวงเงิน 1 ล้านบาท สคฝ.ในฐานะผู้ชำระบัญชีสถาบันการเงินนั้น จะเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินที่ เพื่อชำระคืนให้กับเจ้าหนี้หลังจากที่มีการขายทรัพย์สินออกไป
ทั้งนี้ผู้ฝากเงินที่ยังมีภาระดอกเบี้ยค้างกับสถาบันการเงินนั้นๆ จะถูกจัดเป็น 1 ใน เจ้าหนี้ของสถาบันการเงิน แต่ลำดับจะรองจากเจ้าหนี้ภาษี ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ และเจ้าหนี้แรงงาน ซึ่งเป็นพนักงานของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการไป จากนั้นจึงจะเป็นเจ้าหนี้เงินฝาก หากสามารถขายทรัพย์สินมาได้ก็จะทยอยจ่ายคืนให้กับเจ้าหนี้เหล่านั้น โดยไม่ต้องรอให้จบกระบวนกรชำระบัญชี ซึ่งจะใช้เวลานานหลายปี แต่ก็ไม่ได้ภายใน 30 วันเช่นกัน
สำหรับการคำนวณเงินที่จะจ่ายคืนให้กับผู้ฝากลำดับแรกก่อนนั้น จะเป็นการคำนวณจากทุกบัญชีของผู้ฝากเงิน ที่มีกับสถาบันการเงินนั้นๆ โดยรวมทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น เพราะส่วนใหญ่สถาบันการเงินจะคำนวณดอกเบี้ยทุก 6 เดือนและบวกเพิ่มเข้าไปในบัญชีอยู่แล้ว เมื่อรวมทุกบัญชีแล้ว หักด้วยภาระหนี้ที่มีและครบกำหนดชำระ เหลือเท่าไหร่จะคืนให้กับผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทก่อน ส่วนหนี้ที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ สคฝ.ในฐานะผู้ชำระบัญชีจะมีการโอนไปยังสถาบันการเงินอื่นแทน
“การคุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้นครอบคลุมผู้ฝากเงินถึง 98.05% ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และที่น่าตกใจคือ ยังมีคนที่มีบัญชีเดียวมากกว่า 50% และเป็นเพียงบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งดอกเบี้ยต่ำมาก ขณะที่คนที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทนั้น มีความซับซ้อนในการบริหารเงินมากกว่าคนที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการกระจายลงทุนไปในสินทรัพย์อื่นๆ และมีการฝากในออมทรัพย์น้อยที่สุด”นายทรงพลกล่าว
สำหรับความเคลื่อนไหวของเงินฝาก นายทรงพลกล่าวว่า ไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายอย่างมีนัยสำคัญ เพราะดูย้อนหลัง 6 ปีที่ผ่านมา เงินฝากเติบโตขึ้นทุกปีและมีการเปลี่ยนโยกย้าย ซึ่งไม่ได้เกิดจากว่า สถาบันการเงินไหนมีความเสี่ยงมากกว่ากัน แต่เกิดจากที่ไหนให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดย 5 ปีที่ผ่านมา เงินฝากเติบโตเฉลี่ย ปีละ 4-6% มีเพียงปีที่ผ่านมาที่เงินฝากเติบโตน้อยสุดเพียง 2% อาจเพราะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 ก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองเงินฝากเป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ซึ่งในระดับสากลต่างก็มีการคุ้มครองเงินฝากเช่นกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการคุ้มครองเงินฝาก แต่อาจจะมีการทบทวนวงเงินคุ้มครองขั้นต่ำได้ เพราะวงเงินที่กำหนดไม่เกิน 1 ล้านบาทดำเนินการปัจจัยต่างในช่วงนั้น หากเหตุการณ์ต่างๆเปลี่ยนไป เศรษฐกิจดีขึ้น รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้น มีการฝากเงินที่เยอะขึ้น ก็เป็นไปได้ที่จะทบทวนปรับวงเงินคุ้มครองสูงขึ้น ให้เหมาะสมกับสภาพที่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่ใช่เร็วๆนี้ แต่จะไม่มีการปรับลดลง