อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 33.42 บาท/ดอลาร์

09 ส.ค. 2564 | 00:24 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 09:48 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้มยังคงต้องติดตามทั้งเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทยที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.42 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.20-33.70 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งกว่าคาด ได้หนุนมุมมองของตลาดที่เริ่มมองว่าเฟดอาจทยอยลดคิวอีในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตาการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป และ ทิศทางนโยบายการเงินเฟด โดยเฉพาะการปรับลดคิวอี

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดจะติดตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์แนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนการทยอยลดคิวอีมากขึ้น ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งหาก CPI เดือนกรกฎาคม พุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดมองไว้ที่ 5.3% บรรดาผู้เล่นในตลาดก็อาจกลับมากังวลปัญหาการเร่งตัวของเงินเฟ้ออีกครั้งได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาว พร้อมกับเงินดอลลาร์ ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นได้ ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับ 81 จุด นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยพยุงบรรยากาศการลงทุนได้ อนึ่ง ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Barkin & Bostic (วันจันทร์) ถึงมุมมองต่อการทยอยลดคิวอีของเฟด โดยเฉพาะ Barkin เพราะเป็นคณะกรรมการ FOMC ที่มีมุมมองเป็นกลางต่อนโยบายการเงิน จึงน่าจับตาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง มาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวด (Hawkish มากขึ้น) หรือไม่

 

ฝั่งยุโรป – การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 อาจกดดันความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence)เล็กน้อย เนื่องจากโดยรวมผู้เล่นในตลาดยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปซึ่งได้แรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ภาพดังกล่าวยังสอดคล้องกับมุมมองที่เป็นลบมากขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของบรรดานักลงทุนสถาบันและนักวิเคราะห์จากปัญหาการระบาดรอบล่าสุดในยุโรปและทั่วโลก โดยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Sentiment) เดือนสิงหาคม อาจลดลงสู่ระดับ 55 จุด จาก 63.3 จุด ในเดือนก่อน อนึ่ง  เศรษฐกิจอังกฤษในไตรมาสที่ 2 จะพลิกกลับมาโตกว่า +22%y/y จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown หลังจากที่หดตัวถึง -6.1%y/y ในไตรมาส 1 ที่อังกฤษเผชิญปัญหาการระบาดที่รุนแรง นอกจากนี้ เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะเผชิญปัญหาการระบาดระลอกใหม่ก็ตาม เนื่องจากยอดผู้ป่วยหนัก หรือ เสียชีวิตยังไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากจนทำให้ ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ไหว

 

ฝั่งเอเชีย – ความต้องการสินค้าเทคฯ โดยเฉพาะชิพคอมพิวเตอร์จะหนุนให้ยอดการส่งออกของไต้หวันในเดือนกรกฎาคม โตกว่า +33%y/y ซึ่งการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของภาคการส่งออกจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไต้หวันกลับมาขยายตัวได้ดี ส่วนประเทศอื่นๆ ที่กำลังเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เรามองว่าความไม่แน่นอนของปัญหาการระบาดจะกดดันให้บรรดาธนาคารกลางในอาเซียนเลือกที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดยในสัปดาห์นี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Rate) ที่ระดับ 2.00% แม้ว่าเศรษฐกิจอาจกลับมาโตกว่า +10%y/y ในไตรมาสที่ 2 เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ก็มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ในการประชุมเดือนกันยายน หลังมาเลเซียเผชิญการระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจชะลอลง แม้ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะโตกว่า +13%y/y ในไตรมาสที่ 2 ก็ตาม

 

ฝั่งไทย – ปัญหาการระบาด COVID-19 ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติสะท้อนผ่านทั้งยอดผู้ติดเชื้อ รวมถึง ยอดการตรวจพบ (Positive rate) ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันยอดผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนๆ (Excess Mortality) ก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ต้องติดตามการแจกจ่ายวัคซีน ว่าจะสามารถเร่งตัวขึ้นได้ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะการเร่งแจกจ่ายวัคซีนประสิทธิภาพสูงและการเร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลง ซึ่งจะเป็นการปูทางสู่การทยอยเปิดเมืองและจะเริ่มเห็นจากแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของ Google Mobility ในอนาคต

แนวโน้มของค่าเงินบาท ยังคงต้องติดตามทั้งแนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทยที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติโดยเรามองว่า แม้ในสัปดาห์นี้จะมีข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ประกาศออกมาไม่มาก ทว่า โมเมนตัมขาขึ้นเงินดอลลาร์ยังคงอยู่ โดยเงินดอลลาร์อาจปรับตัวขึ้นต่อได้ หากบรรดาเจ้าหน้าเฟดออกมาสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจถูกจำกัดด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ในกรณีที่ เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและดีกว่าคาด

 

ส่วนในฝั่งเงินบาท โซนแนวต้านใกล้ 33.80 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นระดับที่เงินบาทอ่อนค่าไปถึงได้ในระยะสั้น หลังปัญหาการระบาด COVID-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้น กดดันให้นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง ทั้งนี้ วิกฤติการระบาดอาจเริ่มคลี่คลายลงได้ หากรัฐบาลสามารถเร่งแจกจ่ายวัคซีนประสิทธิภาพสูงได้ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งอาจช่วยให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.20-33.70 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (9 ส.ค.) เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 33.40 ไปแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 3 ปีรอบใหม่ที่ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังเผชิญแรงขายตามสัญญาณเสี่ยงของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ ประกอบกับเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์อายุ 10ปีของสหรัฐฯ ขยับขึ้นมาที่ 1.30% ในช่วงวันศุกร์) หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.43 แสนตำแหน่ง (สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ 8.7 แสนตำแหน่ง) ประกอบกับมีการปรับเพิ่มตัวเลขในเดือนพ.ค. และมิ.ย. ให้สูงขึ้นกว่าที่ประกาศในรอบแรกด้วยเช่นกัน 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยวันนี้ที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.ค. ของจีน ตลอดจน ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ