อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 รวมถึงโมเมนตัมขาขึ้นของเงินดอลลาร์ที่ยังมีอยู่จากท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีในปีนี้ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
โดยในส่วนของเงินดอลลาร์ เรามองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนจากทั้งแนวโน้มเฟดทยอยลดคิวอีได้ในปีนี้ และความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลปัญหาการระบาดของเดลต้าทั่วโลก อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ถ้อยแถลงของประธานเฟดในสัปดาห์นี้ อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์ผันผวนและอ่อนค่าลงได้บ้าง หากประธานเฟดกลับไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมลดคิวอีได้ในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวแข็งแกร่ง เหมือนกับบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ออกมาก่อนหน้า
ในส่วนโฟลว์การทำธุรกรรม เราเชื่อว่า บรรดาผู้ส่งออกยังรอที่จะทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ทำให้เงินบาทยังคงมีโซนแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ทว่า เงินบาทก็อาจจะอ่อนค่าทะลุแนวต้านดังกล่าวได้ หากสถานการณ์การระบาดในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมกับแนวโน้มเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ไม่ว่าจากประเด็นเฟดพร้อมลดคิวอีในปีนี้ หรือ ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์
แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกล่าสุด ซึ่งกดดันหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มพลังงานและการเงิน ต่างปรับตัวลดลง ทว่า ความกังวลปัญหาการระบาดนั้น ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ทรงตัวในระดับต่ำใกล้ 1.26% ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ อาทิ Apple +1.35%, Facebook +0.93%, Microsoft +0.60% และช่วยหนุนให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.26% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลงกว่า -0.64% หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปและเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนสถาบัน รวมถึงนักวิเคราะห์ที่ลดลง จากผลสำรวจโดยสถาบัน ZEW ท่ามกลางปัญหาการระบาดของ COVID ที่ยังไม่สงบ ดังจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen -2.1%, BMW -1.9% หรือกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Keings -4.7%, Louis Vuitton -2.1%, Adidas -1.87%
ทางด้านตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลัง COVID-19 ยังคงระบาดหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ จีน กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1.26% ทั้งนี้ เรามองว่า ยังมีโอกาสที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และมีโอกาสปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.50%-1.60% ณ สิ้นปีนี้ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ในกรณีที่การระบาดเดลต้าเริ่มสงบลงได้ภายในไตรมาสที่ 3 และ เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมปรับลดการทำคิวอี
ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมขาขึ้นหนุนอยู่ จากแนวโน้มเฟดทยอยอาจปรับลดคิวอีภายในปีนี้ นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ยังคงหนุนความต้องการเงินดอลลาร์เพื่อเป็นหลุมหลบภัยความผันผวนในตลาด (Safe Haven asset)อยู่ โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 92.6 จุด แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ย่อลงหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาด ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.178 ดอลลาร์ต่อยูโร ขณะที่ เงินเยน (JPY) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แตะระดับ 109.3 เยนต่อดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย สะท้อนให้เห็นว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังตัวอยู่
สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยในฝั่งประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง สหรัฐฯ และ จีน ซึ่งสำหรับสหรัฐฯ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด หลังปัญหาการระบาด Delta ทวีความรุนแรงมากขึ้น จนอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจได้ โดยตลาดประเมินว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม อาจหดตัวราว -0.2% จากเดือนก่อนหน้า จากทั้งปัญหาการระบาด รวมถึงระดับราคาสินค้าที่เร่งตัวสูงขึ้น ตามการทยอยเปิดเมือง
นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะ ประธานเฟด Powell ถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังสหรัฐฯ เผชิญการระบาดของ Delta และมุมมองต่อการทยอยลดคิวอีของเฟด ซึ่งท่าทีสนับสนุนการทยอยลดคิวอีภายในปีนี้ของประธานเฟด สามารถหนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 33.40-33.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ระดับ 33.43 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทในวันนี้ยังน่าจะมีทิศทางอ่อนค่าตามหลายสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงของสถานการณ์โควิดในหลายๆ ประเทศ ซึ่งเพิ่มสัญญาณอ่อนแอให้กับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยติดตาม ได้แก่ สถานการณ์และมาตรการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค.