ตามที่สมาคมธนาคารไทยส่งหนังสือปิดผนึกถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แสดงข้อกังวลถึงหนังสือเวียนของธปท.ที่จะส่งถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินให้ช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ย (Hair cut) ซึ่งจะเป็นการสร้างพฤติกรรมจงใจเบี้ยวหนี้ หรือ Moral Hazard
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นการหารือตกลงระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ซึ่งธปท.ในฐานะธนาคารกลางไม่สามารถเข้าไปสั่งสถาบันการเงินต้องแฮร์คัตให้ลูกหนี้รายใดรายหนึ่ง หรือลูกหนี้ทุกคนจะได้รับแฮร์คัตที่เท่ากัน เรื่องแฮร์คัตเป็นเพียงหนึ่งในแนวทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สถาบันการเงินกับลูกหนี้จะเจรจากัน โดยดำเนินการมาตั้งแต่หลังวิกฤต2540 ไม่ใช่เรื่องใหม่
“ย้ำว่า แฮร์คัตหนี้ไม่ได้เป็นเกณฑ์เชิงบังคับสถาบันการเงิน แต่สถาบันการเงินต้องไปเลือกสูตรในการรักษาลูกหนี้ให้สอดคล้องปัญหาของรายได้ลูกหนี้ซึ่งมีความแตกต่างกัน เราเห็นว่าควรดูแลคนที่มีปัญหาเพื่อทำให้ทรัพยากรของแบงก์ที่มีจำกัดสามารถส่งผ่านไปช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบหนักได้ยิ่งขึ้น ที่สำคัญเราต้องดูแลผู้ฝากเงินและสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน”
นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ที่ผ่านมาธปท.ได้มีการหารือสมาคมธนาคารไทยตลอด กรณีกระแสข่าวนั้น เข้าใจว่าอาจจะเกิดการเข้าใจผิดจากการพาดหัวข่าว ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สมาคมฯตกใจ โดยความเป็นจริงเรื่องแฮร์คัตไม่ใช่มาตรการที่ธปท.จะบังคับให้สถาบันการเงินต้องทำกับลูกหนี้ทุกราย และไม่ได้เป็นสิทธิที่ลูกหนี้ทุกรายจะได้รับ
สิ่งที่ตกลงและหารือกับธนาคารพาณิชย์ คือ ขอให้พิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาว ธปท.อยากเห็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืนหลักๆมาจากการปรับโครงสร้างตามรายได้ที่ยังไม่กลับมาในช่วงนี้ อาจจะให้ลูกค้าผ่อนชำระอัตราต่ำแล้วขยายระยะเวลาออกไป แล้วค่อยๆทยอยปรับเพิ่มเมื่อรายได้กลับมา
หรือขยายอายุของหนี้ปรับจากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว หรือการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาเติมสภาพคล่องกับลูกหนี้ รวมถึงการลดภาระหนี้ตามอาการซึ่งมีได้หลายรูปแบบ แต่ไม่ใช่เลื่อนชำระหนี้เพียงครั้งคราว1-2เดือนเท่านั้น
นางสาวสุวรรณีย้ำอีกว่า วิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่สามารถเป็น One Size Fit All ทุกคนไม่ได้รับยาที่เหมือนกัน ซึ่งยืนยันเรื่องแฮร์คัตไม่ใช่มาตรการบังคับสถาบันการเงินต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับลูกหนี้ แต่สถาบันการเงินสามารถใช้หลายเครื่องมือ ประกอบการแก้ปัญหาหนี้ เพราะถ้าหากมีการแฮร์คัตในวงกว้าง ธปท.ก็ยังกังวลเรื่อง Moral Hazard ลูกหนี้ทุกคนจะคาดหวัง แต่ขณะเดียวกันธปท.ก็ต้องดูแลผู้ฝากเงินและสถาบันด้วยเช่นกัน
“หนังสือที่สมาคมทำถึงธปท.ตามข่าวนั้น คิดว่าอาจจะเกิดจากความ เข้าใจผิด เพราะเกิดการตกใจ ซึ่งสมาคมเองทำความเห็นมาที่ธปท. ว่าโดยหลักเห็นด้วยกับมาตรการยืดหยุ่น ไม่ว่าเรื่องFIDF Fee หรือยืดหยุ่นการจัดชั้นกันสำรองออกไปอีก 2ปี เห็นด้วยกับปรับรูปแบบหนี้ แต่หลังจากมีข่าวออกมา ทางธปท.กับสมาคมแบงก์ได้หารือร่วมกัน หลังจากนี้คงจะมีออกอะไรร่วมกัน”