การปรับโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกครั้งใหญ่ของ “เครือซีพี” หลังประกาศให้บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) (MAKRO) รับโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด (CPRH) ที่ถือหุ้นในบริษัท ซี.พ. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(CPRD) ในสัดส่วน 99.99% และ CPRD ถือหุ้น 99.99% ในบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ Lotus’s ในประเทศไทยและถือหุ้น 100% ใน Lotuss Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อ Lotus’s ในประเทศมาเลเซีย
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า MAKRO ได้แจ้งว่า จะรับโอนกิจการทั้งหมดของ CPRH โดยรวมทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดทั้งหมดของ CPRH ที่มีในปัจจุบัน และที่จะมีในอนาคต ณ วันที่โอนกิจการทั้งหมด จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 217,949.07 ล้านบาท ด้วยวิธีโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer) หรือ EBT เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทและส่งเสริมกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัท ก้าวสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการถือหุ้นก่อนและหลังธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดนั้น บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) จะมีสัดส่วนการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมใน MAKRO ลดลงจาก 93.08% เป็น 65.97% และยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอำนาจควบคุมใน MAKRO ซึ่งเมื่อรวมกับสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลของ CPALLได้แก่ บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (CPM) เพิ่มขึ้นจาก 0.00% เป็น 10.21% และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (CPH) เพิ่มขึ้นจาก 0.00% เป็น 20.43% ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมของ CPALL รวมเป็น 96.61%
ทั้งนี้ CPM และ CPH มีหน้าที่ต้องทำ Mandatory Tender Offer ในราคาหุ้นละ 43.50 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับราคาหุ้นบริษัทภายใต้ธุรกรรมการจัดสรรหุ้น เพื่อตอบแทนการรับโอนกิจการทั้งหมด เป็นราคาสูงสุดที่ CPM และ CPH ได้หุ้นสามัญในบริษัทมา ในระหว่างระยะเวลา 90 วัน ก่อนจะยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
CPM จะรับซื้อหุ้นสามัญในบริษัทเป็นสัดส่วนหนึ่งในสาม และ CPH จะรับซื้อในสัดส่วนสองในสามของจำนวนหุ้นที่มีผู้ตอบรับ Mandatory Tender Offer และจะต้องรับซื้อจำนวนไม่เกิน 332,098,500 หุ้น หรือไม่เกิน 3.39%
นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การโอนกิจการของโลตัสส์ให้กับ MAKRO เป็นการปรับโครงสร้างภายในบริษัทที่มีการวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าซื้อโลตัสส์ เพียงแต่ในช่วงแรกอาจจะรีบปิดดีล จึงเริ่มปรับโครงสร้างใหม่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การควบควมกันจะช่วยให้โลตัสส์แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจาก MAKRO เป็นธุรกิจค้าปลีกที่ยอดขายไม่เคยตก จากการปรับตัวได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ราคา รวมถึงสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนในช่วงโควิด-19 ที่หันมาใช้การซื้อของผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของทั้ง 2 บริษัท เมื่อรวมกันจะอยู่ที่ประมาณ 400,000 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิ MAKRO ที่ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท มีทรัพย์สินประมาณ 70,000 ล้านบาท ส่วนโลตัสส์กำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และทรัพย์สินประมาณ 300,000 ล้านบาท จะทำให้มีธุรกิจที่เติบโต ส่งเสริมกัน และพาทั้งสองบริษัทออกไปเติบโตที่ต่างประเทศได้
ขณะที่ ผลกระทบระยะสั้นต่อบริษัทค้าปลีกรายอื่นในกลุ่มยังไม่มี เพราะแต่ละบริษัทมีเป้าหมายและกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน อีกทั้งแต่ละรายอยู่ในอุตสาหกรรมมาค่อนข้างนาน และมีการปรับตัวได้ค่อนข้างดี
บล.เอเชีย พลัส จำกัดระบุว่า แหล่งเงินทุน MAKRO จะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 5,010,323,500 หุ้น ราคาหุ้นละ 43.50 บาท เพื่อแลกกับหุ้น Lotus’s จากนั้นจะมีการเสนอขายหุ้น PO โดยเป็นหุ้นใหม่อีกจำนวน 1,362,000,000 หุ้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดราคา PO
ทั้งนี้ จะมีการขายหุ้นของผู้ถือหุ้น MAKRO คือ CPALL และ CPF ออกมาด้วยในช่วง PO ถือเป็นการสะท้อนมูลค่าที่ควรจะเป็น (Unlock Value) MAKRO และ Lotus’s พร้อมกัน รวมถึงเป็นการแก้ไขปัญหา Free Float ของ MAKRO และช่วยให้ได้เงินกลับเข้ามาที่ทั้ง MAKRO, CPALL และ CPF ซึ่งคาดจะนำไปขยายธุรกิจและลดภาระหนี้ที่มีให้ลดลง
ส่วนผลกระทบกับ CPALL มองว่า เป็นบวก จากการถือหุ้น MAKRO ลดลง จะชดเชยได้จาก MAKRO ที่มีขนาดใหญ่ ถือหุ้นใน Lotus’s และ Value เดิมของ MAKRO ที่จะเพิ่มขึ้นจาก Synergy กับ Lotus’s ยังได้เงินที่จะขายหุ้น MAKRO พร้อมกับ PO ไปลดภาระหนี้สิน จะสร้าง Upside ต่อประมาณการนับจากปี 2565 ส่วน MAKRO เป็นบวกเล็กน้อย ซึ่งราคาหุ้นระยะสั้นคาดจะรักษาระดับใกล้เคียงราคา Tender Offer ที่ 43.50 บาท ขณะที่ จากการขายหุ้น PO เพิ่มจะช่วยแก้ปัญหา Free Float และมีโอกาสกลับสู่ SET50 ได้ในระยะถัดไป
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5 - 8 กันยายน พ.ศ. 2564