บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินเทศกาลกินเจ ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 6-14 ต.ค. 2564 คนกรุงเทพฯ จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเทศกาลอยู่ที่ 3,600 ล้านบาท หดตัว 8.2% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน แม้ว่าสถานการณ์โควิดและการเข้าถึงวัคซีนจะเริ่มมีสัญญาณบวก แต่สถานการณ์น้ำท่วมและราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นปัจจัยเฉพาะหน้าเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบความเชื่อมั่น ฉุดรั้งกำลังซื้อ และอาจสร้างความไม่สะดวกต่อการใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคในช่วงเวลานี้
นอกจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ข้างต้นแล้ว คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า คนกรุงเทพฯ 55% ยังคงสนใจเข้าร่วมเทศกาลกินเจ แต่มีการปรับลดจำนวนวันในการกินเจลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สะดวกในการบริโภค เนื่องจากเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปสู่การ Work From Home และลดการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งจับจ่ายที่คุ้นเคยในปีก่อนๆ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารข้างทางบริเวณสถานที่ทำงาน ทั้งแบบตักขายและนั่งทานในร้านอาจได้รับผลกระทบจากความกังวลของผู้บริโภคในเรื่องของความปลอดภัยและไม่สะดวกในการออกไปจับจ่าย
ขณะที่ ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารผ่านช่องทางเดลิเวอรี่หรือออนไลน์คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะการสั่งซื้อจากกลุ่มร้านอาหาร Food Chain ที่หันมาเพิ่มเมนูอาหารเจ/วีแกนมากขึ้น เพื่อรุกตลาดผู้บริโภคที่รักสุขภาพ รวมถึงร้านค้าปลีกสะดวกซื้อที่มีการวางจำหน่ายอาหารเจ/วีแกน ที่หลากหลายขึ้นและมีการจัดส่งเดลิเวอรี่ ทั้งแบบดั้งเดิม (เช่น อาหารเจสำเร็จรูปพร้อมทาน/แช่เย็น นมถั่วเหลือง น้ำผัก-ผลไม้) และรูปแบบใหม่ๆ อย่างผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากกลุ่มโปรตีนทางเลือก สะท้อนได้จากคนกรุงเทพฯกว่า 81% ที่คาดว่าจะกินเจในปีนี้ สนใจจะเลือกรับประทานเมนูอาหารที่เป็นกลุ่มโปรตีนทางเลือก เพราะอยากลองทาน มีเมนูที่หลากหลาย และหาซื้อได้ง่ายขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงแนวโน้มตลาดอาหารวีแกนน่าจะเติบโตขึ้นไม่เฉพาะแต่ในช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น แต่จากพฤติกรรมของคนไทยที่หันมาเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้คาดว่า โอกาสของตลาดอาหารวีแกนในไทยจะยังสามารถขยายตัวได้อีกในระยะข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้บริโภควีแกนไทย (รวมถึงมังสวิรัติและเจ) ราว 9 ล้านคน และน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเทรนด์บริโภคอาหารวีแกนโลก สะท้อนได้จากแนวโน้มสัดส่วนของประชากรไทยที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์น่าจะขยับขึ้นจาก 12.0% ในปี 2560 เป็น 15% ได้ภายในปี 2564
อย่างไรก็ดี การจะเพิ่มอัตราการบริโภคและยอดขายได้มากหรือน้อยนั้นคงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ผู้บริโภคจะให้น้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นราคา รสชาติ ความหลากหลายของสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น